ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การประชุมร่วมทางการทหารระหว่างไทยกับจีนจำนวน ๑๐ ครั้งที่ผ่านมา มีข้อสังเกต เพื่อที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์รูปแบบของความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีนได้แก่
๑.๑ ภาพรวมของสถานการณ์ความมั่นคงที่ทั้งฝ่ายไทยและจีน ได้เห็นพ้องกันว่า ระบบโลกควรมีหลายขั้วอำนาจเพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แม้ว่าภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศในรูปแบบดั้งเดิม (Traditional Threats) ที่เผชิญหน้าด้วยกำลังทหารจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง ในขณะที่ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ (Non Traditional Threats) เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าก็ตาม แต่ภัยคุกคามทั้งสองกรณีนั้น ไม่มีประเทศใดที่จะแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงของภูมิภาค อันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันและโดยเฉพาะทุกประเทศต้องร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนช่วยเหลือในการกู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากการเร่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจนเกิดสภาวะโลกร้อน เป็นต้น
๑.๒ จากสถานการณ์ความมั่นคงที่มีภัยคุกคามดังกล่าวในข้อแรกนั้น ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีนเห็นพ้องกันว่า ต้องมีการปรับบทบาททางการทหารที่มีภารกิจหลักในการป้องกันประเทศให้ครอบคลุมถึงภัยคุกคามในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภัยคุกคามทางการทหาร เช่น ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและการพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารต้องอยู่บนพื้นฐานของขีดความสามารถในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น กองทัพของทุกประเทศ จึงต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความมั่นคงดังกล่าว
๑.๓ ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีนโดยเฉพาะความร่วมมือทางการทหารจะมีความยั่งยืนได้ ถ้าทั้งสองประเทศมีความรู้ความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งเคารพในอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน โดยมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนทั้งในระดับผู้นำทางทหารและในทุกระดับ ดังนั้น จึงควรมีการขยายความร่วมมือทางการทหารระหว่างกัน ในทุก ๆ ด้าน เช่น การส่งนายทหารเข้ารับหลักสูตรการศึกษาของกันและกันให้มากขึ้นมีการแลกเปลี่ยนด้านการข่าวกรอง มีการฝึกร่วมกันทางการทหาร และมีการส่งกำลังบำรุงร่วมกัน เป็นต้น
๑.๔ จีนได้เสนอที่จะให้มีการขยายผลการฝึกร่วมทางทหารโดยเฉพาะการฝึกร่วมทางทะเลแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับจีนไปสู่การฝึกร่วมแบบพหุภาคีโดยเชิญประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเข้าร่วมฝึกด้วยในโอกาสต่อไป ทั้งนี้เพื่อลดความหวาดระแวงในระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่ไทยยังสงวนท่าทีเนื่องจากอาจทำให้สหรัฐอเมริกาหวาดระแวงว่ากลุ่มประเทศในอาเซียนกำลังจะถูกจีนครอบงำและเป็นการลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ลงไป อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคและกระทบต่อความมั่นคงของไทย โดยที่ทั้งไทยและจีนต่างก็เห็นร่วมกันว่า ต้องร่วมกันในการเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองประเทศควรได้ใช้ประสบการณ์รวมทั้งเครื่องมือทางการทหารมาแลกเปลี่ยนในการฝึกร่วมเพื่อกู้ภัยพิบัติและการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือประชาชน
๑.๕ ในการประชุมความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับกระทรวงกลาโหมของจีน ครั้งที่ ๖ โดยฝ่ายจีนเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ ๑๙ ก.ย.๕๐ ฝ่ายจีนได้แสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของบางประเทศที่ไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นในเรื่องปัญหาช่องแคบไต้หวัน ปัญหาในตะวันออกกลาง และการต่อต้านการก่อการร้าย โดยบังคับใช้มาตรฐานสองระดับ (Double Standard) กับมิตรประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศของตนเพียงฝ่ายเดียว นอกจากนั้น ยังได้ใช้นโยบายสร้างพันธมิตรทางทหารในลักษณะของกลุ่มความร่วมมือแบบปิด (Exclusive Bloc) ซึ่งจีนเห็นว่า เป็นความพยายามในการกีดกันและปิดล้อมจีน (Containment) เพื่อไม่ให้จีนมีบทบาทในภูมิภาค ในขณะที่จีนได้พยายามผลักดันให้มีความร่วมมือแบบเปิด (Inclusive) โดยใช้โครงสร้างกระบวนการและกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ในการแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) เป็นต้น
๒. ผลกระทบต่อความมั่นคงทางการทหารของไทยและรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างไทยกับจีน อันเป็นผลมาจากการที่จีนได้ประเมินสถานการณ์ของโลกในระยะยาวว่าจะพัฒนาไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสันติภาพและดุลอำนาจของโลก แต่ในขณะเดียวกันการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
บทสรุป
มีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่า จีนจะใช้ยุทธศาสตร์ขยายความสัมพันธ์ในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีพลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เพื่อสร้างความผูกพันด้านผลประโยชน์อย่างใกล้ชิดและกว้างขวาง รวมทั้งต้องการให้ความสัมพันธ์ในรูปแบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้พัฒนาไปสู่การเป็นขั้วอำนาจใหม่ เพื่อคานอำนาจอิทธิพลของสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ จีนก็ได้เตรียมการในการต้านทานแรงกดดันจากประเทศตะวันตก โดยการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะกับประเทศที่อยู่รอบบ้านของจีน โดยจีนเล็งเห็นว่าประเทศกลุ่มประเทศในอาเซียนจะเป็นขั้วอำนาจหนึ่งที่สำคัญในเอเชียแปซิฟิก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
(๑) ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เรื่อง “ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: ศึกษาเฉพาะกรณีความร่วมมือทางการทหาร” โดย ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พันเอก (ยศในขณะนั้น)
(๒) หนังสือเรื่อง “ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยกับจีน” โดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๕๗