bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๒ ต.ค.๖๑ : การดำเนินยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI)

การดำเนินยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) กับแนวโน้มด้านการลงทุนของจีน โดยเฉพาะกรณีที่จีนมีการลงทุนโดยตรงในไทยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแหล่งทุนสำคัญของไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ภายหลังจากที่จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI (Belt and Road Initiative) มาตั้งแต่ปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ทำให้มีวิสาหกิจจีนจำนวนมากต้องการไปลงทุนในต่างประเทศตามเส้นทางสายไหมทางทะเล และทางบก แต่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งด้านการตลาด การเงิน และรูปแบบความร่วมมือ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารแห่งประเทศจีนสาขาประจำประเทศไทยในฐานะธนาคารทุนจีนแห่งแรกในไทย จึงมีแผนที่จะสร้างโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจีน-ไทยมาจับมือกัน เพื่อสนองความต้องการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจีนที่ต้องการไปลงทุนในไทย รวมทั้งจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่วิสาหกิจเหล่านี้ด้วย ส่วนทางด้านรัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากจีนมาโดยตลอด เพราะการลงทุนของจีนในไทยจะช่วยสร้างโอกาสการพัฒนาอย่างมากให้แก่วิสาหกิจไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

๒. ในช่วงปีหลังๆ นี้ การค้า การลงทุนระหว่างจีน-ไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับแรก และแหล่งการลงทุนใหญ่อันดับสองของไทย ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจีน-ไทยด้านการค้าผลิตผลการเกษตร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเบา และการท่องเที่ยวประสบความสำเร็จมาก โดยเฉพาะข้อมูลปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) พบว่า มีวิสาหกิจจีนหลายแห่งมาลงทุนในไทย เพื่อร่วมมือกับวิสาหกิจไทยผลิตยางรถ และผลิตภัณฑ์โซล่าร์เซลล์ ซึ่งนายจาง เหลย ผู้จัดการ ธนาคารแห่งประเทศจีนสาขาประจำประเทศไทยกล่าวว่า ช่วงสองสามปีมานี้ รัฐบาลไทยเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จึงเชื่อมั่นว่า วิสาหกิจจีนที่จะมาลงทุนในไทยจะมีโอกาสมากขึ้น

๓. ล่าสุด สำนักข่าวซินหวาได้อ้างรายงานของธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันที่ ๑๘ ต.ค.๖๑ ที่ผ่านมาว่า หลายปีมานี้ จีนมีการลงทุนโดยตรงในไทยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแหล่งทุนสำคัญของไทย โดยจีนลงทุนส่วนใหญ่ในด้านการผลิตและโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาคือ การเงิน การประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งระหว่างปี ๒๐๑๔ – ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๕๗ – ๒๕๖๐) จีนมีการลงทุนในไทยโดยตรงมากถึง ๙๓๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นอันดับ ๒ โดยขึ้นแซงหน้าสหรัฐฯ แต่ยังคงเป็นรองแค่เพียงญี่ปุ่นเท่านั้น

๔. ข้อสังเกต
        ๔.๑ นายหลี หง ทูตจีนประจำคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกสหประชาชาติ (ESCAP) กล่าวว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจีน-ไทยมีส่วนเกื้อกูลกันได้มาก ขณะนี้ ทุกประเทศทั่วโลกต่างกำลังหาทางสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หากมองจุดเด่นของเศรษฐกิจไทย-จีนจะพบว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจีน-ไทยมีส่วนเกื้อกูลกันได้มาก เพราะวิสาหกิจของทั้งสองประเทศต่างมีตลาดและธุรกิจที่มีความได้เปรียบของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะการพัฒนารูปแบบใหม่ จีนจะสร้างตลาดที่ใหญ่ขึ้น และโอกาสความร่วมมือมากขึ้นให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจจีน-ไทย ที่นับวันใกล้ชิดยิ่งขึ้นนั้นจะทำให้การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
        ๔.๒ จีนได้ปรับแก้กฎหมายส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนชาวต่างชาติและชาวจีนและปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น พร้อมทั้งการประกาศใช้ Negative list approach หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรีทั่วประเทศในปีนี้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าและการลงทุนอย่างเสรี ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งชาติจีนก็เริ่มเปิดเสรีภาคการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ BRI โดยมีโครงการสำคัญคือ Bond Connect ที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมในตลาดพันธบัตรหยวนในฮ่องกงและส่งผลให้ฮ่องกงกลายเป็นตลาดสำคัญในการระดมทุนสำหรับโครงการ BRI ในอนาคต นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะส่งเสริมการใช้เงินหยวนในประเทศต่างๆ บนเส้นทาง BRI สอดคล้องกับความพยามยามของธนาคารแห่งชาติจีนที่ต้องการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลและจะยืดหยุ่นค่าเงินหยวนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลมาจากคำกล่าวของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในพิธีปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ ๑๙ เมื่อวันที่ ๒๔ ต.ค.๖๐ เกี่ยวกับเป้าหมายของจีนในการเป็นประเทศทรงอิทธิพลของโลกภายในปี ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการสนับสนุนการสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นนัยสำคัญว่าจีนจะดำเนินนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

บทสรุป

โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”หรือ BRI ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักในการเดินหน้าเปิดประเทศและขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลก โดย BRI ได้เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งและเศรษฐกิจจีนกับ ๖๕ ประเทศ ใน ๓ ทวีป (เอเชีย ยุโรปและแอฟริกา) ซึ่งจะครอบคลุมราว ๑ ใน ๓ ของเศรษฐกิจโลกและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการราว ๒๕% ของการค้าโลกทั้งหมด ทั้งนี้ การเชื่อมโยงดังกล่าวระหว่างจีนและประเทศบนเส้นทาง BRI ได้ก่อให้เกิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนจำนวนมาก รวมทั้งการลงทุนโดยตรงของจีนในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.thailand-business-news.com/china/70146-chinas-belt-and-road-initiative-to-reshape-routes-in-thailand.html

http://thai.cri.cn/247/2018/10/19/63s272585.htm

http://thai.cri.cn/247/2017/02/24/223s251237.htm

https://www.scbeic.com/th/detail/product/4312 

https://www.scbeic.com/th/detail/product/4325

http://en.silkroad.news.cn/2018/1019/115214.shtml