จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๒๒ มิ.ย.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งะหว่างจีนกับอินเดียในบริเวณพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายจ้าว ลี่เจียน (赵立坚 Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน (中国外交部发言人) ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย.๖๓ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียตามแนวแบ่งเขตแดนในหุบเขากัลวาน (中印加勒万河谷冲突事件来龙去脉) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างจีน-อินเดีย ว่า
๑.๑ หลายปีมานี้ กองทัพป้องกันชายแดนของจีนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมาโดยตลอด ขณะที่กองทัพอินเดียได้สร้างทาง สะพาน และอื่น ๆ ในบริเวณหุบเขากัลวาน (Galwan Valley) ตั้งแต่เดือน เม.ย.๖๓ เป็นต้นมา ซึ่งจีนเคยคัดค้านในเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว
๑.๒ เมื่อรุ่งเช้าวันที่ ๖ พ.ค.๖๓ กองทัพอินเดียได้ข้ามมายังดินแดนของจีนและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของจีนในการควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดน ทำให้กองทัพจีนจึงต้องใช้มาตรการในการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่สุด ทั้งสองประเทศก็ได้จัดการเจรจาระดับผู้บัญชาการกองทัพระหว่างสองประเทศ เมื่อวันที่ ๖ มิ.ย.๖๓ และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดน
๑.๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.๖๓ กองทัพอินเดียได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าว โดยข้ามเข้ามายังเขตแดนของจีนเพื่อยั่วยุอีกครั้งด้วยการใช้กำลังอาวุธโจมตีทหารจีนที่มาพูดคุยเจรจา จนเกิดการปะทะกันและมีผู้เสียชีวิต
๒. มีกระแสข่าวเกี่ยวกับกองทัพอินเดียที่ได้รายงานการปะทะกันดังกล่าวในเบื้องต้นว่า มีทหารเสียชีวิต ๓ นาย ซึ่งในจำนวนนี้รวมนายทหารยศพันเอกอยู่ด้วย แต่ในเวลาต่อมาได้ปรับตัวเลขทหารที่เสียชีวิตเป็น ๒๐ นาย ขณะที่ทางการจีนยังไม่เปิดเผยรายงานตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และเมื่อวันที่ ๑๗ มิ.ย.๖๓ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
๒.๑ นายหวัง อี้ ได้กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.๖๓ ที่ผ่านมา กองกำลังบริเวณแนวชายแดนของอินเดียได้ทำลายข้อตกลงร่วมกันของการพบปะระดับผู้บัญชาการของสองฝ่าย โดยข้ามแดนทำการยั่วยุอีกครั้งภายใต้สถานการณ์ที่พื้นที่หุบเขากัลวานได้ผ่อนคลายลง และมีการใช้กำลังอาวุธโจมตีทหารจีนในพื้นที่ จนเกิดการปะทะกันและทำให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ทางกองทัพอินเดียได้กระทำผิดต่อข้อตกลงว่าด้วยปัญหาชายแดนของสองประเทศ ผิดหลักการขั้นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจีนแสดงท่าทีคัดค้านอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้อินเดียสอบสวนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเลิกการยั่วยุอย่างทันที พร้อมประกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีก ทั้งนี้ สองฝ่ายควรปฏิบัติตามข้อตกลงสำคัญของผู้นำสองประเทศ ส่งเสริมการประสานงานและการแลกเปลี่ยนในกิจการพื้นที่ชายแดนด้วยกลไกการเจรจาระหว่างผู้แทนพิเศษและกองกำลังในพื้นที่ชายแดน รักษาสันติภาพและความสงบของพื้นที่ชายแดนร่วมกัน
๒.๒ นายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ ได้กล่าวเน้นถึงจุดยืนของอินเดีย พร้อมกับกล่าวว่า อินเดียยินดีปฏิบัติตามข้อตกลงของผู้นำสองประเทศ โดยถือความสัมพันธ์สองประเทศเป็นศูนย์กลาง และใช้วิธีการเจรจาอย่างสันติเพื่อแก้ไขการปะทะกันในพื้นที่ชายแดน เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง
๓. ข้อสังเกตต่อความขัดแย้งระหว่างจีน-อินเดียในกรณีดังกล่าว
๓.๑ ปัจจัยทางการเมือง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ที่จีนและอินเดียได้ทำสงครามระหว่างกันจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะเดียวกันอินเดียก็ต้องเสียดินแดนหลายส่วนให้กับจีนไป และหนึ่งในพื้นที่สำคัญคือหุบเขากัลวาน ต่อมาเมื่อช่วงกลางปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) อินเดียได้ประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ โดยผนวกรวมดินแดนทั้งสองให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลางและได้มีการจัดทำแผนที่ฉบับใหม่ขึ้นซึ่งกลายเป็นประเด็นพิพาทกับจีน จากการผนวกรวมเอาดินแดนอักไซชินซึ่งอยู่ในความควบคุมของจีนเข้าไปด้วย และ รัฐบาลจีนได้ออกมาประท้วงแผนที่ฉบับดังกล่าว โดยมองว่าการกระทำของอินเดียละเมิดข้อตกลงที่กระทำร่วมกันหลังสงครามปี ๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) และละเมิดอธิปไตยของจีน ดังนั้น เมื่อเดือน เม.ย.๖๓ รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้แผนที่ฉบับใหม่ โดยมีการผนวกรวมเอาพื้นที่พิพาททั้งหมดระหว่างจีน-อินเดียเข้าไปด้วย และถือเป็นครั้งแรกที่แผนที่จีนใช้เส้นทึบเหนือดินแดนอรุณาจัลประเทศและอักไซชิน จากเดิมที่เคยใช้จุดประตลอดมา
๓.๒ ปัจจัยทางการทหาร เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารในบริเวณพื้นพิพาทอย่างครอบคลุม ส่งผลให้มีความได้เปรียบทางการทหารต่ออินเดีย ทำให้อินเดียต้องผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมขนส่งต่างๆ ในบริเวณตามแนวเส้น LAC ที่จะทำให้กองทัพอินเดียสามารถลำเลียงยุทโธปกรณ์ทางการทหารเข้ามาในพื้นที่พิพาทได้ง่ายขึ้น อันจะส่งผลให้อินเดียมีศักยภาพทางด้านยุทธศาสตร์การทหารใกล้เคียงกับจีนในพื้นที่พิพาท แต่หลังจากจีนประกาศใช้แผนที่ฉบับใหม่ได้ไม่นาน ก็เกิดการปะทะกันระหว่างทหารจีนและอินเดียตามแนวชายแดนทั้งในพื้นที่ลาดักและสิกขิมตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.๖๓
บทสรุป
นายจ้าว ลี่เจียง โฆษกกระกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวเน้นย้ำว่า จีนหวังว่าทั้งอินเดียและจีนจะปฏิบัติตามฉันทามติที่สำคัญ ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐบาลทั้งสองอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานในการจัดการปัญหาชายแดนที่เหมาะสม ผ่านช่องทางทางการทหารและการทูตที่มีอยู่ระหว่างทั้งสองฝ่าย (通过双方既有军事和外交渠道) เพื่อร่วมกันรักษาสันติภาพและความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ (共同维护两国边境地区的和平与安宁) ดังนั้น จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวระหว่างจีน-อินเดียดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.chinanews.com/gn/2020/06-19/9217272.shtml
https://news.china.com/socialgd/10000169/20200620/38380937.html
https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_7918643
https://m.nbd.com.cn/articles/2020-06-19/1448411.html
https://focus.scol.com.cn/zgsz/202006/57832713.html
http://china.qianlong.com/2020/0620/4309783.shtml
http://thai.cri.cn/20200620/f1b7a705-ffd3-1788-7ddf-4669b1d79756.html
http://thai.cri.cn/20200618/b338c5b3-8199-5669-e66d-325146157cb3.html
https://www.the101.world/india-china-conflict-2020/
https://www.cqcb.com/headline/2020-06-21/2567917_pc.html