bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๓ ก.ย.๖๒ ข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. งานมหกรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๖ และการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพาณิชย์และการลงทุนจีน-อาเซียน ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ภายใต้หัวข้อ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ร่วมวางแผนความร่วมมือในอนาคต” ในระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๔ ก.ย.๖๒ โดยนายหัน เจิ้ง กรรมการประจำกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรองนายกรัฐมนตรีจีน ได้เข้าร่วมพิธีเปิดและกล่าวปราศรัยความว่า
        ๑.๑ จีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนมีแม่น้ำและภูเขาเชื่อมกัน มีวัฒนธรรมคล้ายกัน การไปมาหาสู่เป็นมิตรที่ดีมาช้านาน ในช่วง ๒๘ ปีที่ทั้งสองฝ่ายสร้างความสัมพันธ์เจรจากันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง ๑๖ ปีที่สร้างความสัมพันธ์แบบเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจีนกับอาเซียนได้จับมือกันอย่างก้าวหน้า
        ๑.๒ หลายปีมานี้ ความไว้วางใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียนมีขึ้นในระดับสูงเป็นพิเศษ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าก็ยกระดับขึ้นอีกขั้น มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และมีปรากฏการณ์ใหม่ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน โดยมีการยกระดับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นในทุกด้าน

๒. งานมหกรรมดังกล่าว นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญระหว่างจีน-อาเซียน โดยแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จีนกับอาเซียนจะเสริมการเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ รวมไปถึงบรรลุเป้าหมายในการเอื้อประโยชน์และได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และในงานแสดงสินค้าครั้งนี้ จะมีการประกาศสมุดปกสีน้ำเงินฉบับแรก ว่าด้วยการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอาเซียนของนักธุรกิจจีน อันเป็นการส่งสัญญาณความร่วมมือและชัยชนะร่วมกันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

๓. ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน
        ๓.๑ ช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา การค้าการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้าจีน–อาเซียนโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งในปี ๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) ยอดการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนคิดเป็น ๑๙๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนมาถึงปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) กลายมาเป็น ๕๑๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเกือบเป็น ๓๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
        ๓.๒ เศรษฐกิจของจีนและอาเซียนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย GDP ของจีนครองสัดส่วน GDP โลกจาก ๔% ของปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) กลายมาเป็น ๑๕% ของปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) และมีแนว โน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
       ๓.๓ หลังจากปี ๒๐๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๓) ที่ได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน–อาเซียนแล้ว กำแพงการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนก็ลดลง โดยช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ตลาดการอุปโภคบริโภคของจีนและอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความต้องการต่อสินค้านำเข้าและการบริการชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก และ GDP เฉลี่ยต่อคนของจีนเพิ่มขึ้นจาก ๒,๖๕๐ เหรียญสหรัฐฯ ในปี ๒๐๐๗ (พ.ศ.๒๕๕๐) มาเป็น ๘,๖๗๐ เหรียญสหรัฐฯ ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ซึ่งเป็นการผลักดันให้จีนเข้าบัญชีรายชื่อประเทศที่ประชากรมีรายได้ระดับปานกลาง กลุ่มชนชั้นที่มีรายได้ระดับปานกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
        ๓.๔ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำหรับอาเซียน ที่นับวันจะสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยประเทศในอาเซียนได้ส่งออกสินค้าและบริการจำนวนมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์การเกษตร พลังงานและการท่องเที่ยว เป็นต้น (ตามสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี ๒๐๑๘ หรือ พ.ศ.๒๕๖๑ ไทยรับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนกว่า ๑๐ ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ ๕๙๐,๐๐๐ ล้านบาท)
        ๓.๕ ในระยะปีหลังๆ มานี้ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กลายเป็นจุดเด่นใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน โดยได้นำมาซึ่งเงินทุนมหาศาลให้กับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนาในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้างเครือข่ายทางรถไฟแพนเอเชียที่เริ่มตั้งแต่นครคุนหมิง ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของจีน ผ่านประเทศ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย และสิ้นสุดที่สิงคโปร์

บทสรุป
จีนกับอาเซียนถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับภูมิภาค โดยอาเซียนเป็นตลาดบริโภคที่มีประชากรรวมประมาณ ๖๕๘ ล้านคน และเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของจีน โดยเฉพาะในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ยอดการส่งออกของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียนคิดเป็น ๒๗๙,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๙% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นสัดส่วน ๑๒.๓% ของยอดการส่งออกของจีนในปี ๒๐๑๗ ขณะที่จีนเป็นแหล่งที่มาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยระหว่างปี ๒๐๑๓ – ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๕๙) การลงทุนโดยตรงของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นจำนวนประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ทั้งนี้ “IHS Markit Ltd” บริษัทผู้เสนอบริการด้านข้อมูลการพาณิชย์รอบโลกที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ได้ประกาศรายงานว่า ปี ๒๐๒๘ (พ.ศ.๒๕๗๑) คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ ๑ ของโลก ในขณะที่จีนและอาเซียนได้กำหนดให้ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งเครือข่ายระบบ 5G และเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก


http://eng.caexpo.org/  

http://thai.cri.cn/20190922/84a3914e-8cee-3dd1-7ecf-8b47aefbadf0.html 


http://thai.cri.cn/20190527/e734598c-8578-f547-5f41-b33f4414c082.html 


http://thai.cri.cn/20190428/9103584b-778d-1fb3-c5e0-9c645379ab75.html


http://thai.cri.cn/20190920/7e074f1f-7dc0-91bf-927a-f982b59457d8.html  


https://news.cgtn.com/news/2019-09-21/BRI-can-help-upgrade-China-ASEAN-economic-cooperation-K9UNzESKo8/index.html