bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๔ มิ.ย.๖๒ แถลงข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ที่กรุงเทพฯ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย.๖๒ ในเรื่องการส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเกี่ยวข้องกับจ

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงเรื่องดังกล่าวว่า
         ๑.๑ ที่ประชุมฯ ได้เห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยอาเซียนได้ใช้เวลาหารือและจัดทำเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียน
         ๑.๒ ในเรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้เคยเสนอให้อาเซียนมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ฟิลิปปินส์เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๖๐ ดังนั้น ในการนี้ นายกรัฐมนตรีจึงขอขอบคุณประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก
         ๑.๓ อาเซียนได้ตกลงกันว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการที่เป็นที่ยอมรับ อาทิ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ รวมทั้งหลักการที่บรรจุอยู่ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia : TAC) โดยอาเซียนเห็นว่า ความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิกจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นแกนกลางของอาเซียน ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เกื้อกูลกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคและอนุภูมิภาค และสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนเป็นสำคัญ
        ๑.๔ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเห็นพ้องกับไทยที่จะผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) แล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า (trade tension) ระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน

๒. จุดยืนของจีนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก จากข้อคิดเห็นของบรรดานักวิชาการจีน ซึ่งอยู่ในหน่วยงานคลังสมองของรัฐบาลจีน ที่ต่างเห็นว่า
        ๒.๑ สหรัฐฯ กำหนดยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกขึ้นมา เพื่อรับมือกับการเติบโตของจีน และมีเป้าหมายต้องการปิดล้อมจีน โดยแนวคิดนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้สามขั้นได้แก่ (๑) ขั้นแรกคือ Strategic Regrouping การจัดกลุ่มใหม่ทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค (๒) ขั้นที่สองคือ Strategic Realigning การผูกมิตรใหม่ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และ (๓) ขั้นที่สามคือ Strategic Redirecting การกำหนดทิศทางใหม่ทางยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ ขณะนี้ สหรัฐฯ ได้ดำเนินการในขั้นแรกด้วยการจัดกลุ่มประเทศทางยุทธศาสตร์คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดียและออสเตรเลีย และกำลังเข้าสู่ขั้นที่สอง สร้างการผูกมิตรใหม่ ซึ่งมีเพียงสหรัฐและญี่ปุ่นที่กระตือรือร้นในเวลานี้ แต่การปรับความสัมพันธ์ของฝ่ายจีนกับญี่ปุ่น อินเดียและออสเตรเลีย เมื่อไม่นานมานี้ จีนโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เชิญนายกรัฐมนตรีอินเดียมาเยือนจีนทำให้ความสัมพันธ์จีนกับอินเดียดีขึ้น จีนยังปรับปรุงความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นไปติดตามใกล้ชิดสหรัฐฯ มากเกินไป ในขณะที่จีนก็ไปบอกออสเตรเลียว่า จีนกับออสเตรเลียเป็นคู่ค้าที่สำคัญมาก ขอให้ออสเตรเลียอย่าใช้นโยบายใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากเกินไป
        ๒.๒ จีนมองว่ายุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการกำหนดโครงสร้างความมั่นคงของภูมิภาคนี้ในอนาคต ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงร่วมกันทั่วภูมิภาค อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก อย่างไม่โปร่งใสหรือไม่ให้จีนมีส่วนร่วม จีนจะไม่ยอมรับและจะสู้ถึงที่สุด

บทสรุป
เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ และจีน ต่างมีมุมมองต่ออาเซียนที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของอาเซียนที่จะรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค ตลอดจนพัฒนาการในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://www.asean2019.go.th/th/news/pointers-for-press-conference-by-his-excellency-general-prayut-chan-o-cha-ret-prime-minister-of-the-kingdom-of-thailand-at-34th-asean-summit/

https://www.dailynews.co.th/foreign/715745 

รายงานการสัมมนาเวทีคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ไทย-จีน เรื่อง “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ท่าทีของจีนและมุมมองของไทย” จัดโดยมูลนิธิการวิจัยยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งชาติจีน, ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศูนย์วิจัยปัญหาทะเลจีนใต้แห่งประเทศจีน มหาวิทยาลัยนานกิง ณ มหาวิทยาลัยนานกิง มณฑลเจียงซูสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์

http://www.vijaichina.com/sites/default/files/34235_28092018%20%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%20%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%81.pdf