bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๗ ก.ค.๖๓ การลงพื้นที่ตรวจงานในมณฑลจี๋หลินของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (国家主席习近平) ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๔ ก.ค.๖๓

จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๒๗ ก.ค.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงพื้นที่ตรวจงานในมณฑลจี๋หลินของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (国家主席习近平) ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๔ ก.ค.๖๓ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๒ ก.ค.๖๓ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมณฑลจี๋หลิน (吉林省考察) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังเมืองซื่อผิง (四平市) มณฑลจี๋หลิน (吉林省) เพื่อตรวจงานการผลิตธัญญาหารในส่วนท้องถิ่น การอนุรักษ์พัฒนาดินดำ และการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่พัฒนาการเกษตร  โดยเน้นว่า ต้องใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองดินดำที่ล้ำค่าผืนนี้ดั่งคุ้มครองหมีแพนด้า ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปชมหอรำลึกสงครามป้องกันของเมืองซื่อผิง อีกด้วย อันเป็นการทบทวนประวัติศาสตร์การปฏิวัติและไว้อาลัยวีรชนที่พลีชีพเพื่อชาติ  
 
๒. เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ค.๖๓ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางลงพื้นที่เมืองฉางชุน (长春市) มณฑลจี๋หลิน โดยได้เดินทางไปยังชุมชนฉางซานฮัวหยวนของเขตควันเฉิง สถาบันศึกษาบุคลากรชุมชนเมืองฉางชุน และหอนิทรรศการการวางแผนเขตเมืองใหม่ฉางชุน เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการบริการชุมชน การวางแผนสร้างสรรค์เขตเมืองใหม่ และการพัฒนาปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งในระหว่างการตรวจเยี่ยม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทราบว่ามีพนักงานใหม่หลายคนเป็นบัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ จึงได้กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด การหางานทำของนักศึกษาจบใหม่ในปีนี้จึงต้องเผชิญอุปสรรคความยากลำบากอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนกำลังใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวอย่างสูงโดยถือเป็นงานสำคัญอันดับต้นๆ  ของงานด้านเศรษฐกิจและงานการแก้ไขปัญหาของประชาชนในปีนี้ เพื่อให้บัณฑิตทุกคนสามารถหางานทำได้
 
๓. ข้อสังเกตต่อการตรวจงานในครั้งนี้ อันเป็นการเตรียมดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะเวลาห้าปี ฉบับที่ ๑๔ (开始实施“十四五”规划) ในปีหน้า กล่าวคือ
     ๓.๑ แผนพัฒนาฯ ดังกล่าว จะเป็นห้าปีแรกที่จีนได้เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างประเทศสังคมนิยมแบบทันสมัยในทุกด้าน โดยเฉพาะหลักประกันความมั่นคงด้านอาหาร โดยเร่งการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาการเกษตรและสร้างประสบการณ์ในการสำรวจเส้นทางของการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ อันเป็นกุญแจสู่ความทันสมัยทางการเกษตรคือ ความทันสมัยของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อเสริมสร้างการรวมตัวกันของการเกษตรและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี รวมถึงเสริมสร้างนวัตกรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ตลอดจนสนับสนุนหน่วยงานธุรกิจการเกษตรใหม่ๆ อย่างแข็งขัน เช่น ฟาร์มครอบครัวและสหกรณ์เกษตรกร ฯลฯ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นสำรวจแบบจำลองสหกรณ์แบบมืออาชีพที่แตกต่างกันตามสภาพท้องถิ่น
     ๓.๒ การดำเนินแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง โดยต้องมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงพลังงาน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจนวัตกรรมและการต่อต้านความเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจที่แท้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตปฏิบัติได้ดีขึ้น เพื่อปรับปรุงระดับของห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมดเป็นทิศทางหลัก ตลอดจนเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่และเร่งการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนแปลงการทำงานของรัฐบาล การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการตลาดที่ถูกกฎหมาย และต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนาองค์กรเอกชน รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการและกระตุ้นพลังขององค์กรตลาดต่างๆ
     ๓.๓ มุ่งเน้นการต่อสู้ที่ยากลำบากในการดำเนินงานหลัก "หกเสถียรภาพ" (“六稳” ได้แก่  เสถียรภาพการจ้างงาน เสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพการค้าต่างประเทศ เสถียรภาพการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เสถียรภาพการลงทุนภายในประเทศ และเสถียรภาพเป้าหมายที่คาดการณ์) และดำเนินงาน "หกหลักประกัน" (“六保” ได้แก่ หลักประกันการจ้างงาน หลักประกันการดำรงชีวิต หลักประกันกลไกการตลาด หลักประกันความมั่นคงอาหารและพลังงาน หลักประกันห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และหลักประกันการดำเนินงานของหน่วยงานระดับพื้นฐาน) อย่างเต็มที่ โดยใช้ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างทั่วถึง เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นอยู่ที่ดีในทุกวิถีทางสำหรับการต่อสู้ให้พ้นจากความยากจนอย่างถาวร
 
บทสรุป

ในการลงพื้นที่ตรวจงานที่มณฑลจี๋หลินในครั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรและพื้นที่ชนบท โดยเร่งพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่มีมาตรฐานสูง ด้วยการเสริมสร้างเทคโนโลยีการเกษตร และการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมในชนบทแบบบูรณาการ มีการผสมผสานของความทันสมัยทางการเกษตรและความทันสมัยในชนบท และส่งเสริมการขยายการบริการสาธารณะสู่ชนบท ตลอดจนการพัฒนาหน่วยงานธุรกิจการเกษตรสองประเภท (ฟาร์มครอบครัวและสหกรณ์เกษตรกร) และส่งเสริมการปฏิรูประบบสิทธิในทรัพย์สินส่วนรวมในชนบทอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อการบรรเทาความยากจนและป้องกันการหวนกลับมาของความยากจน
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล  
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์