การประชุมฟอรั่มคลังสมองจีน-แอฟริกา โดยนักวิชาการจีนและแอฟริกาต่างเรียกร้องให้ประเทศแอฟริกาใช้โอกาสการพัฒนาที่มาจากข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๔พ.ค.๖๒ ในการประชุมฟอรั่มคลังสมองจีน-แอฟริกา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลูซากา เมืองหลวงของแซมเบีย โดยนักวิชาการจีนและแอฟริกาต่างเรียกร้องให้ประเทศแอฟริกาใช้โอกาสการพัฒนาที่มาจากข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
๑.๑ นางพาเมลา คาบาโซ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยและวิเคราะห์นโยบายแซมเบีย กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศแอฟริกาได้เผชิญหน้าอุปสรรคต่อการพัฒนามากมาย ซึ่งรวมถึงปัญหาโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานอ่อนแอ กำลังการผลิตต่ำ และต้นทุนไม่เพียงพอ ซึ่งข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้เสนอแผนการที่มีประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
๑.๒ รองศาสตรจารย์ หลิว ไห่ฟาง จากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า จีนมีความได้เปรียบในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานและกำลังการผลิต สามารถโยกย้ายเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมไปยังต่างประเทศได้ ถือเป็นการสร้างโอกาสการมีงานทำ ๗๐ ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ ข้อเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้นำโอกาสใหญ่หลวงมาสู่การพัฒนาของแอฟริกา อย่างไรก็ตามประเทศแอฟริกาแต่ละประเทศต้องเข้าร่วมด้วยตัวเอง จึงจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากข้อริเริ่มดังกล่าว
๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๘ เม.ย.๖๒ นายลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงว่า ปัจจุบัน คณะกรรมการสหภาพแอฟริกาและ ๓๗ ประเทศแอฟริกาได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับจีน โครงการความร่วมมือสำคัญระหว่างจีน-แอฟริกาภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ส่วนใหญ่เริ่มดำเนินการ และได้ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นแล้ว
๒.๑ โดย Vera Songwe เลขาธิการฝ่ายปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับแอฟริกาแห่งสหประชาชาติ (UNECA) ได้กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จะส่งเสริมการเชื่อมต่อในแอฟริกา และสร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่แอฟริกา
๒.๒ จากคำกล่าวของ Vera Songwe เลขาธิการฝ่ายปฏิบัติงานของ UNECA ดังกล่าว นายลู่ คัง มีความเห็นว่า เป้าหมายและขอบเขตความร่วมมือของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สอดคล้องกับวาระปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) ของสหภาพแอฟริกา รวมทั้งแนวทางและขอบเขตสำคัญในการพัฒนาแอฟริกาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการร่วมปรึกษา ร่วมสร้าง และร่วมรับประโยชน์ในการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”นั้นก็สอดคล้องกับเนื้อแท้แห่งความร่วมมือระหว่างจีน-แอฟริกา อย่างมากเช่นกัน
บทสรุป
จีนได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการผลักดันการร่วมพัฒนาตามโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ที่มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งนี้ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงว่า การสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกให้มีความเข้มแข็งและเปิดกว้างมากขึ้น อันเป็นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจจีนที่เข้าสู่คุณภาพสูง และเป็นความต่อเนื่องจากวางโครงสร้างสู่การลงรายละเอียด นอกจากนี้ ความร่วมมือที่มีคุณภาพสูงต้องสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาร่วมของแต่ละประเทศ โดยต้องยืนหยัดการถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งต้องคำนึงถึงความต้องการของทุกฝ่าย ตลอดจนต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศและการปฏิบัติงานที่ดี จึงจะทำให้มีอนาคตที่แจ่มใส
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://chinaplus.cri.cn/news/world/10/20190524/293152.html
http://thai.cri.cn/20190525/31b71979-ff50-553d-3949-e44b79f9db47.html
http://www.chinadaily.com.cn/a/201904/11/WS5caee852a3104842260b5ab0.html
http://thai.cri.cn/20190419/c6d6cb73-115d-9be9-f9ca-e7d2c7f54021.html
http://thai.cri.cn/20190419/e18228f7-70dc-2a97-7dc2-d1e89c2f682b.html
http://thai.cri.cn/20190419/f002f9de-3274-71ad-8cc2-3c3e1189c7b0.html