สถาบันอิเล็คทรอนิกส์แห่งชาติจีน ได้วิเคราะห์แนวโน้มความเคลื่อนไหวของการพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สถาบันอิเล็คทรอนิกส์แห่งชาติจีน ได้ออกรายงานเกี่ยวกับภาคการทำงานที่มีแนวโน้มมากที่สุดในการแทนที่แรงงานมนุษย์ใช้หุ่นยนต์ โดยรายงานดังกล่าว เป็นการรวบรวมจากการประชุมหุ่นยนต์โลกปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๙ ส.ค.๖๑ที่ผ่านมา โดยระบุ ๑๐ ภาคการทำงานที่หุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้งานได้ดีที่สุด ได้แก่
๑.๑ งานคลังสินค้าและโลจิสติกส์
๑.๒ งานการผลิต
๑.๓ งานการแพทย์
๑.๔ งานขนส่งเดินเอกสารในสำนักงาน
๑.๕ งานเพื่อนสัตว์เลี้ยง
๑.๖ งานทำความสะอาด
๑.๗ งานด้านความปลอดภัย
๑.๘ งานถ่ายบันทึกภาพ
๑.๙ งานเหมือง
๑.๑๐ งานความมั่นคง ป้องกันภัยคุกคาม
๒. ก่อนหน้านี้ รายงานของ “World Robotics” ระบุว่า จีนเป็นตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกทั้งผลิตและจำหน่าย โดยมีความมุ่งมั่นเพื่อเปลี่ยนผ่าน และก้าวเป็นผู้นำปฏิวัติเศรษฐกิจยุคใหม่ ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ ๑๓ ของจีน (ค.ศ.๒๐๑๖ – ๒๐๒๐ หรือ พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๓) ได้ตั้งเป้าหมายผลิตหุ่นยนต์ให้ได้ ๑ แสนตัว ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยครอบคลุม ๓ ประเภทใช้งาน คือ (๑) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (๒) หุ่นยนต์เพื่อบริการ และ (๓) หุ่นยนต์เพื่อการทหาร ซึ่งจะดำเนินการพร้อมๆ ไปกับนโยบาย “Made in China 2025” ที่ยังเน้นความสำคัญ ๑๐ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่ล้วนจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยที่เห็นประจักร์แล้วคือ การจ้างงานของบริษัท Foxconn ซึ่งผลิตสินค้าไฮเทค รวมถึงสมาร์ทโฟน ไอโฟน ในประเทศจีน ที่นำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ และลดจำนวนคนงานแล้วกว่า ๖๐,๐๐๐ คน
๓. ข้อสังเกต เริ่มมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานผลิตรถยนต์ แทนที่แรงงานคนอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ ๔๐ ปีที่ผ่านมา เพราะงานบางประเภทเป็นอันตรายสำหรับคนและยังทำงานได้โดยไม่มีวันหยุดและไม่เรียกร้องขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะในปัจจุบันโลกอยู่ในยุค ๔.๐ มีความจำเป็นที่ต้องใช้หุ่นยนต์มาแทนแรงงานคนมากขึ้น ซึ่งสถาบันวิจัยแมคคินซีย์ โกลบอล เปิดเผยว่า คนทำงาน ๔๐๐ – ๘๐๐ ล้านคน จะต้องเปลี่ยนอาชีพภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) เพราะจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมองกล (AI)
บทสรุป
หุ่นยนต์ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพสูงขึ้น จากเมื่อก่อนที่ใช้แขนกลทำงานแทนคน แต่ปัจจุบันหุ่นยนต์ทำงานสลับซับซ้อนได้มากขึ้นและทำงานที่ซับซ้อนมากเกินกว่าความสามารถของคนที่จะทำได้ ที่สำคัญ หุ่นยนต์จะทำงานเคียงข้างคนได้ด้วย เรียกว่า Collaborative Robot หรือ Cobot ซึ่งได้รับการออกแบบให้ทำงานแบบมีปฏิสัมพันธ์กับคนและทำงานง่าย ไม่ต้องพึ่งโปรแกรมเมอร์ เพราะผู้ใช้งานเพียงแต่กดปุ่มและปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานอัตโนมัติ Cobot รุ่นใหม่ๆ มีขนาดเล็กจึงเคลื่อนย้ายได้ง่ายและราคาถูกลง ทำให้บริษัทขนาดกลางและเล็กซื้อไปใช้ในกิจการได้ โดยที่งานหลายๆ ประเภทมีแนวโน้มที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์มากขึ้น เช่น งานขนส่งภายในโกดัง โรงงานเคมีและพลาสติก รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะนำหุ่นยนต์มาแทนแรงงานคนมากขึ้น คนจึงต้องปรับตัวและเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ๆ ให้ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้ในอนาคต ดังจะเห็นได้จากงานมหกรรมอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะนานาชาติครั้งแรกของจีน เมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค.๖๑ ที่จัดขึ้น ณ มหานครฉงชิ่ง ได้เน้นประเด็น "ความเป็นอัจฉริยะ เสริมพลังให้เศรษฐกิจ เติมสีสันให้ชีวิตความเป็นอยู่" เพื่อบรรลุความเข้าใจร่วมกันและความคืบหน้าใหม่เกี่ยวกับการผลักดันให้เกิดการผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นระบบ และผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตเป็นระบบดิจิทัลต่อไป
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.wfeo.org/events/world-robot-conference-wrc-2018/
https://mgronline.com/china/detail/9610000084750
http://thai.cri.cn/247/2018/08/24/227s270403.htm
https://news.thaipbs.or.th/content/269445
http://en.worldrobotconference.com/