bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๘ พ.ค.๖๑ : มิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

รูปแบบในมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งบทบาทและท่าทีที่เหมาะสมของไทยต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ข้อเสนอต่อรูปแบบในมิติใหม่ ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต้องปรับทิศทางและรักษาระดับของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานของความเคารพในความแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากสภาพค่านิยมทางสังคม วัฒนธรรมและจารีตประเพณี ซึ่งส่งผลต่อการสร้างแนวคิดทางยุทธศาสตร์ทั้งของจีนและสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน แต่ทั้งสองประเทศก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกันและกัน ซึ่งแนวทางที่ทั้งสองประเทศควรดำเนินการ ได้แก่
         ๑.๑ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ควรเน้นรูปแบบการรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน โดนเฉพาะความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการหาพื้นที่สำหรับการลงทุนร่วมกันเพื่อเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่ความร่วมมือในด้านความมั่นคงและด้านอื่นๆ ต่อไป
         ๑.๒ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ควรมีการทบทวนและมีการหารืออย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ โดยทั้งสองประเทศต้องเปิดใจกว้างที่จะให้แต่ละฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบกติกาในการจัดระเบียบของโลกใหม่ รวมทั้งยินดีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาคมโลกด้วย
         ๑.๓ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ควรมีจุดประสานงานที่ชัดเจน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและสนับสนุนต่อความร่วมมือในทุกระดับ โดยผ่านกลไกต่างๆ ที่ทั้งสองประเทศมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งแบบทวิภาคีและภายใต้กรอบพหุภาคี ตลอดจนมีการแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด รวมทั้งควรเร่งส่งเสริมการทูตในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น

๒. สำหรับบทบาทและท่าทีที่เหมาะสมของไทย ต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยการรักษาทิศทางและระยะของการดำเนินความสัมพันธ์ทั้งต่อจีนและสหรัฐฯ อย่างได้สมดุล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยควรดำเนินการในรูปแบบลักษณะที่เป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อันจะทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันทุกๆ ฝ่ายในภูมิภาค กล่าวคือ
        ๒.๑ ไทยควรใช้จุดเด่นในการดำเนินความสัมพันธ์พิเศษกับจีนแบบญาติสนิทเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันและการดำเนินความสัมพันธ์พิเศษแบบเพื่อนสนิท ด้วยการสร้างบทบาทการเป็นสะพานเชื่อมโยงที่มีความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยอาศัยสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีความเกื้อกูลต่อการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง (Hub) ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งใช้จุดเด่นเรื่องขีดความสามารถในการประนีประนอมต่อประเด็นปัญหาข้อพิพาทด้านความมั่นคงเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี เช่น ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เป็นต้น
        ๒.๒ ไทยควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทั้งต่อจีนและสหรัฐฯ ให้ทั้งสองฝ่ายเห็นคุณค่าและความสำคัญของไทยต่อการมีบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค เนื่องจากไทยไม่มีประเด็นความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญทั้งกับจีนและสหรัฐฯ และไม่มีประเด็นขัดแย้งในเรื่องที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และจีนโดยเฉพาะกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ไทยจึงควรแสดงจุดยืนที่เป็นของตนเองอย่างแท้จริงรวมทั้งแสดงจุดยืนร่วมกับสหรัฐฯ หรือกับจีน ในประเด็นที่ควรจะมีจุดยืนร่วม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย ด้วยการใช้เหตุผลที่ชัดเจนในเชิงหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนจุดยืนของไทยในแต่ละเรื่องด้วย

๓. ประเด็นที่จะสนับสนุนการดำเนินยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทย ต่อจีนและสหรัฐฯ อย่างได้สมดุล เช่น
        ๓.๑ การกำหนดแผนงานแบบบูรณาการเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมทั้งความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เป็นต้น
        ๓.๒ การแสดงบทบาทนำในการเป็นเวทีกลางของการพบปะหารือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในภูมิภาค เช่น ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยการจัดสัมมนาทางวิชาการระหว่างหน่วยงานคลังสมองทั้งของไทยและต่างประเทศในมิติเชิงประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นต้น

บทสรุป

รูปแบบของความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่จะก่อให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาต่อโลกและภูมิภาคต่างๆ นั้น ทั้งสองประเทศควรยอมรับในความแตกต่างและให้ความเคารพต่อกันในบทบาทการมีส่วนร่วม เพื่อการแก้ไขปัญหาร่วมกันภายใต้กรอบกติกาโดยเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก อันจะนำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและการเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในรูปแบบใหม่ เช่น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ โดยผ่านกลไกความร่วมมือต่างๆ ซึ่งประเทศไทยสามารถสร้างบทบาทในการเป็นประเทศผู้ประสานความร่วมมือได้ทั้งกับจีนและสหรัฐฯ เนื่องจากไทยมีความใกล้ชิดสนิทสนมแบบญาติมิตรในครอบครัวเดียวกันกับจีน และมีความใกล้ชิดแบบเพื่อนสนิทที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศไทย และผลประโยชน์ร่วมกันทั้งกับจีนและสหรัฐฯ อย่างได้สมดุล อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของภูมิภาคและสันติภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากหนังสือ

Honggang, Wang. (2012). “Great Changes : Sino – U.S. Relations and Strategic Games” in Contemporary International Relations. Vol. 22, No.4 (July/August)., pp. 48-58.

Laksmana, Evan A. (2009). The Preponderance of Geography : Revisiting America Grand Strategy in Asia. ASP Working Paper No.1/2009 American Studies Program, Institute of Security and International Studies (ISIS).

Peng, Yuan. (2012). “Some Strategic Thoughts on New Type China – U.S. Ties” in Contemporary International Relations. Vol. 22, No.4 (July/August)., pp. 27-47.