มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๖ ก.ค.๖๒ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศบริคส์ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศบราซิล เพื่อเตรียมการการประชุมผู้นำประเทศกลุ่มบริคส์ที่จะจัดขึ้นที่กรุงบราซิเลียในเดือน พ.ย.๖๒ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิลเป็นประธาน โดยผู้แทน ๕ ประเทศ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ดังกล่าวได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ปัญหาของภูมิภาค และความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มบริคส์ โดยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า จะปกป้องลัทธิพหุภาคีและการค้าเสรี ต่อต้านลัทธิกระทำโดยลำพังฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกัน รวมถึงการกระชับความร่วมมือในกลุ่มบริคส์เพื่อสร้างความผาสุกให้กับประชาชนทั้ง ๕ ประเทศ
๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๘ มิ.ย.๖๒ ได้มีการพบปะระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศบริคส์ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยมี ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ประธานาธิบดีบราซิล (นายชาอีร์ โบลโซนาโร) ประธานาธิบดีรัสเซีย (นายวลาดิเมียร์ ปูติน) นายกรัฐมนตรีอินเดีย (นายนเรนทรา โมดี) และประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ (นายซีริล รามาโฟซา) ได้เข้าร่วมการพบปะดังกล่าว และมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า กลุ่มประเทศบริคส์จะเสริมการประสานงาน เพื่อคุ้มครองลัทธิพหุภาคี และรักษาระบบการค้าระหว่างประเทศที่มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงบทบาทส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
๓. ข้อสังเกตต่อบทบาทและท่าทีของจีนในการขับเคลื่อนทิศทางของกลุ่มประเทศบริคส์
๓.๑ จากการที่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวในการพบปะระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศบริคส์ ระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า กลุ่มประเทศบริคส์ควรดำเนินงานของตนเองให้ดีและมั่นคง ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยร่วมกันปรับปรุงระบบการบริหารโลกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และกระชับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ซึ่งสอดรับกับความเห็นพ้องกันของประเทศกลุ่มบริคส์ ที่เน้นว่า จะต้องสนับสนุนกลไกการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นตัวแทน และถือกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน เพื่อเป็นหลักประกันทางการค้าระหว่างประเทศที่โปร่งใส และเปิดกว้าง
๓.๒ เมื่อปลายเดือน พ.ย.๖๑ จีนได้มีการนำเสนอหลักการพื้นฐาน ๓ ประการ และข้อเสนอ ๕ ประการ เกี่ยวกับการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวคือ
๓.๒.๑ หลักการพื้นฐาน ๓ ประการ ได้แก่ (๑) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรยึดมั่นในคุณค่าของหลักการค้าพหุภาคี ไม่เหยียดหยาม และเปิดกว้าง (๒) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรรักษาผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา และ (๓) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรปฏิบัติตามกลไกการตัดสินด้วยการหารือเพื่อบรรลุความเห็นร่วมกัน
๓.๒.๒ ข้อเสนอ ๕ ประการ ได้แก่ (๑) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรรักษาบทบาทการเป็นช่องทางการค้าหลักของระบบการค้าพหุภาคี (๒) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรแก้ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความอยู่รอดขององค์การการค้าโลก (๓) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรแก้ปัญหาด้านความยุติธรรมของกฎเกณฑ์การค้า (๔) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรรักษานโยบายพิเศษของประเทศกำลังพัฒนา และ (๕) การปฏิรูปองค์การการค้าโลกควรเคารพรูปแบบการพัฒนาของประเทศสมาชิก
บทสรุป
จีนได้แสดงบทบาทและท่าทีที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนทิศทางของประเทศกลุ่มบริคส์ โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อเสริมสร้างลัทธิพหุภาคี และส่งเสริมการรักษาระเบียบสากลที่เที่ยงธรรม ยุติธรรม เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) และการให้ความสำคัญต่อ “สนธิสัญญาปารีส” เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันจะทำให้บรรลุต่อการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
http://www.xinhuanet.com/english/2019-07/27/c_138262913.htm
http://thai.cri.cn/20190727/fac530b3-9f8e-1efa-2f3c-fb67a986329e.html
http://thai.cri.cn/20190628/f588b9de-4b8d-4a8f-95a9-7644b6c9f074.html
http://thai.cri.cn/20190628/6269dad1-c461-2260-b587-aaa49c6891f9.html
http://thai.cri.cn/20181201/cd6a9846-a8a3-c9e4-5a28-34edb62a4491.html
http://thai.cri.cn/20181124/9fb4720e-6c73-9ae1-63d1-488ee417aef6.html
http://www.chinadaily.com.cn/a/201907/26/WS5d3ae617a310d8305640140a.html