ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในการแถลงข่าวกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ ๒๗ ก.ย. ๖๒ นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวว่า วิดีทัศน์อวยพรดังกล่าวแสดงถึงแนวโน้มความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นที่พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเดือน มิ.ย.๖๒ ที่ผ่านมา ที่ผู้นำจีนและญี่ปุ่นพบปะกันด้วยความสำเร็จ ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังบรรลุความตกลงที่สำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ให้สอดคล้องกับกระแสในยุคใหม่ ทั้งนี้ จีนยินดีร่วมมือกับญี่ปุ่นต่อไป
๒. ความเคลื่อนไหวที่สำคัญต่อการเกื้อกูลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
๒.๑ ปัจจัยทางการเมือง เมื่อวันที่ ๑๐ ส.ค.๖๒ นายเล่อ ยวี่เฉิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และนายตาเคโอะ อาคีบะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น จัดการเจรจาทางยุทธศาสตร์จีน-ญี่ปุ่นรอบใหม่ ที่จัดหวัดนากาโนะของญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น และปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ทั้งสองประเทศให้ความสนใจร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นที่สอดคล้องความต้องการในปัจจุบัน นี่คือการจัดการเจรจาครั้งแรกในช่วงเวลา ๗ ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเจรจาทางยุทธศาสตร์จีน-ญี่ปุ่นเริ่ม ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน พ.ค.๔๘ จนถึงเดือน มิ.ย.๕๕ และที่ผ่านมา มีการเจรจาทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นมีถึง ๑๓ รอบ มีบทบาทสำคัญต่อการขจัดอุปสรรคทางการเมืองระหว่างสองประเทศ ตลอดจนการบรรลุซึ่งเนื้อหาสำคัญและกรอบพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และอำนวยผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างสองประเทศ ในระยะหลังเนื่องจากการกระทำบางอย่างของฝ่ายญี่ปุ่นที่ทำให้จีนไม่พอใจ ทำให้การเจรจาหยุดชะงักลง
๒.๒ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยเมื่อวันที่ ๓ เม.ย.๖๒ ได้มีการจัดการเจรจาว่าด้วยความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจจีน-ญี่ปุ่นระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการครั้งที่ ๑๓ ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของโลกและสองประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการหารือเรื่องต่างๆ ได้แก่ การเจรจาทางเศรษฐกิจระดับสูงจีน-ญี่ปุ่น ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนตลาดฝ่ายที่ ๓ การนวัตกรรม การเงิน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การดูแลผู้สูงวัย การท่องเที่ยว RCEP เขตการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ การปฏิรูป WTO การประชุมกลุ่ม G20 และความร่วมมือพหุภาคี เป็นต้น
๒.๓ ปัจจัยทางสังคม เมื่อวันที่ ๑๖ ก.ค.๖๒ คณะผู้แทนที่ประกอบขึ้นด้วยนักเรียนมัธยมจากเขตสือจิ่งซานของกรุงปักกิ่งไปดูงานที่เทศบาลเขตอิตาบาชิ กรุงโตเกียว ซึ่งได้กระชับมิตรภาพระหว่างเขตสือจิ่งซานและเขตอิตาบาชิให้ใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณะผู้แทนยังได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์และนักเรียนของโรงเรียนซากุระกาวาโตเกียว เรียนวิชาวัฒนธรรมและศิลปกรรมของญี่ปุ่น เสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากยิ่งขึ้น และพื้นฐานมิตรภาพระหว่างเด็กและเยาวชนจีน-ญี่ปุ่นด้วย เนื่องในวาระครบรอบ ๔๐ ปีความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกรุงปักกิ่ง-กรุงโตเกียว ตามคำเชิญจากสมาคมมิตรภาพญี่ปุ่น-จีนกรุงโตเกียว เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนกันกับนักเรียนมัธยมญี่ปุ่น รวมทั้งเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพจากการพบเจอกันและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ
บทสรุป
แม้ว่าโอกาสแห่งการปรับปรุงความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นจะมีทิศทางที่ดีมากขึ้นก็ตาม แต่ยังต้องตระหนักถึง ปัญหาละเอียดอ่อนที่เป็นอุปสรรค์ต่อทั้งสองประเทศมาเป็นเวลานานกรณีที่ญี่ปุ่นรุกนานจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นยังคงมีอยู่ ดังนั้น ทั้งจีนและญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องจดจำและปฏิบัติตามฉันทามติระหว่างผู้นำสองประเทศ ในการพบปะกันที่เมืองโอซากา โดยเฉพาะการจัดการปัญหาละเอียดอ่อนด้วยวิธีการที่เหมาะสม การควบคุมความขัดแย้ง เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น โดยสอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย ทั้งนี้ จีน-ญี่ปุ่นควรร่วมมือกันเพิ่มพลังเชิงบวกให้กับโลกมากขึ้น อันจะนำความผาสุกมาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศและเสถียรภาพในภูมิภาค
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
http://chiangmai.chineseconsulate.org/eng/fyrth/t1702916.htm
http://thai.cri.cn/20190928/52deb8e7-e5a4-c33d-6624-27ce89ff97fd.html
http://thai.cri.cn/20190811/8a749d0d-1026-f401-426f-e8a4f7e57494.html
http://thai.cri.cn/20190812/b839fe57-9f02-b339-312d-8f38ee563b2f.html
http://thai.cri.cn/20190813/ca375f16-f5c8-88e9-26b9-e92a5e2a9969.html
http://thai.cri.cn/20190706/1e762abf-d8ef-37b5-9db5-116da7418207.html
http://thai.cri.cn/20190717/2bee5bea-ae5c-59c1-3cfd-6ebffb42deb3.html
http://www.vijaichina.com/articles/1336