bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๓๐ พ.ย.๖๓ : ทิศทางความเคลื่อนไหวระหว่างจีนกับอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ในรอบเดือน พ.ย.๖๓

ขอนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางความเคลื่อนไหวระหว่างจีนกับอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ในรอบเดือน พ.ย.๖๓ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
๑. เมื่อวันที่ ๘ พ.ย.๖๓ ที่กรุงปักกิ่ง นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน (国务委员兼外长王毅) พบปะกับทูตปะเทศในอาเซียน ๑๐ ประเทศซึ่งประจำ ณ ประเทศจีน โดยนายหวัง อี้ กล่าวว่าจีนและอาเซียนควรยืนหยัดความมั่นใจ มีความสามัคคี ร่วมมือกันสร้างเสริมความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และจีนยินดีร่วมกับอาเซียนในการต่อต้านโรคระบาด และทั้งสองฝ่ายควรยืนหยัดกลไกพหุภาคีและการค้าเสรี ด้วยการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันท์หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านในภูมิภาคตามกำหนดการที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ ตลอดจนร่วมกันรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ขณะที่คณะทูตของอาเซียนได้ชื่นชมความคืบหน้าของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน โดยการเชื่อมกับจีนให้มากขึ้นทั้งทางยุทธศาสตร์ การพัฒนา การผลักดันการเจรจาแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ รวมทั้งร่วมกันรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
 
๒. เมื่อวันที่ ๑๒ พ.ย.๖๓ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน (中国国务院总理李克强) เข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน - อาเซียน (๑๐+๑) ครั้งที่ ๒๓ ผ่านทางวิดีโอ โดยกล่าวว่า หลังจากผ่านช่วงเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน – อาเซียน ได้บรรลุจุดสูงสุดและมีเสถียรภาพ ในการเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-๑๙ โดยจีนและอาเซียนได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด ซึ่งจีนจะคำนึงถึงความต้องการวัคซีนจากประเทศในอาเซียนอย่างแข็งขัน รวมทั้งได้มีการแบ่งปันประสบการณ์และเป็นผู้นำในการเปิด "ช่องทางที่รวดเร็ว" (“快捷通道”) และ "ช่องทางสีเขียว" (“绿色通道”) เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร ซึ่งในช่วง ๓ ไตรมาสแรกของปีนี้ การค้าจีน – อาเซียนได้เติบโตขึ้น และการลงทุนของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้นมากกว่า ๗๐% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะพัฒนาการประสานงานเชิงยุทธศาสตร์ ผลักดันความร่วมมือด้านระบบนิเวศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การป้องกันและบรรเทาภัย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การขจัดความยากจน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและบุคลากร ความปลอดภัยทางไซเบอร์และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน  อีกทั้ง เห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนการกำหนดหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้(COC) ตลอดจนประกาศให้ปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างจีน-อาเซียน เป็นต้น
 
๓. เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย.๖๓ ที่กรุงปักกิ่ง นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน - จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (๑๐+๓) ครั้งที่ ๒๓ โดยกล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือ ๕ ข้อ ได้แก่ การกระชับความร่วมมือในการต่อต้านโควิด-๑๙ การเร่งสร้างเขตการค้าเสรี การปลดล็อกห่วงโซ่อุปทานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมในภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการร่วมมือกันลดความยากจนในภูมิภาค
 
๔. เมื่อวันที่ ๑๕ พ.ย.๖๓ ประเทศในอาเซียน ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ รวม ๑๕ ประเทศ ได้ร่วมกันลงนามอย่างเป็นทางการใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค”  (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ผ่านการประชุมทางไกล โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่าการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นผลงานเชิงสัญลักษณ์ของความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเท่านั้น หากยังเป็นชัยชนะของกลไกพหุภาคีและการค้าเสรีอีกด้วย
 
๕. เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย.๖๓ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (国家主席习近平) ได้กล่าวปราศรัยขณะเข้าร่วมการเสวนากับผู้นำด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของเอเปค ผ่านระบบการประชุมทางไกลว่า จีนจะมีส่วนร่วมในการขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งยินดีร่วมมืออย่างแข็งขันกับทุกประเทศ เขตแคว้นและองค์กรต่างๆ ที่ยินดีที่จะร่วมมือกับจีน
 
๖. เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย.๖๓ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒๗ ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการร่วมมือเพื่อสร้างชุมชนแห่งอนาคตร่วมกันในเอเชียแปซิฟิก โดยการเปิดวิสัยทัศน์ความร่วมมือหลังปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยเนื้อหาหลัก ๔ ประการได้แก่ การเปิดกว้าง การเติบโตทางนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ต่อเศรษฐกิจดิจิทัล การเชื่อมต่อโครงข่าย และความร่วมมือแบบชนะร่วมกัน
 
บทสรุป

การพบปะพูดคุยและการแลกเปลี่ยนความเห็นตลอดจนการเจรจาหารือระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียน ๑๐ ประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น ๑๐+๑ และ ๑๐+๓ รวมทั้งการลงนามร่วมกันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคดังกล่าว ทำให้เกิดช่องทางการกระชับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เส้นทางแห่งการพัฒนาร่วมกัน อย่างเปิดกว้างและครอบคลุม ตามแผนพัฒนาเสริมสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายรวมทั้งการสนับสนุนพหุภาคีและการค้าเสรี ซึ่งไม่เพียงแต่จะบรรลุการพัฒนาของตนเองเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกด้วย  
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

https://www.fmprc.gov.cn/web/wjbzhd/t1830450.shtml 

http://www.gov.cn/xinwen/2020-11/12/content_5560815.htm 

https://mp.weixin.qq.com/s/oTdU3N2eT0ZZLM4BpmRnbQ 

https://mp.weixin.qq.com/s/CIo3ToksCELTpPG7Ty3yXQ 

http://www.chinaembassy.or.th/chn/zgyw/t1833585.htm

http://www.chinaembassy.or.th/chn/zgyw/t1834224.htm