bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๓๐ มี.ค.๖๓ กรณีที่ผู้นำจีนได้เน้นถึงแนวทางของจีนในการร่วมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๓๐ มี.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่ผู้นำจีนได้เน้นถึงแนวทางของจีนในการร่วมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๖ มี.ค.๖๓ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เข้าร่วมการประชุมทางไกลผู้นำกลุ่ม G20 เพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-๑๙ ที่กรุงปักกิ่ง โดยผู้นำจีนได้เรียกร้องให้สมาชิก G20 ดำเนินมาตรการร่วมกันในการลดภาษีศุลกากร รวมทั้งขจัดอุปสรรค และทำให้การค้าดำเนินไปอย่างราบรื่น อันเป็นการส่งสัญญาณแรงต่อการเพิ่มขวัญกำลังใจสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการที่จีนจะเพิ่มการสนับสนุนสินค้าที่ตลาดต่างประเทศต้องการ เช่น ยาประเภท API, อุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด และสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นต้น ตลอดจนจะใช้นโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไป โดยการขยายการปฏิรูปและเปิดประเทศ การผ่อนคลายการเข้าถึงตลาด การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การขยายการนำเข้าอย่างแข็งขัน และการขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก

๒. ในการประชุมทางไกลผู้นำกลุ่ม G20 ดังกล่าว ได้มีการประกาศแถลงการณ์ว่า
     ๒.๑ เนื่องจากไวรัสไม่มีการแบ่งแยกพรมแดน ดังนั้น สมาชิกกลุ่ม G20 ควรรับมือกับไวรัสด้วยความสามัคคีกัน โดยสัญญาว่าจะใช้มาตรการทุกอย่างเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน และเห็นพ้องกันที่จะแบ่งปันข้อมูล การประกันการสนองตอบด้านเวชภัณฑ์ การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ด้อยพัฒนา รวมทั้งเรียกร้องให้จัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในช่วงที่จำเป็น และดำเนินการปฏิบัติอย่างเร่งด่วนในการต่อต้านการระบาดในครั้งนี้ ตลอดจนจะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก เป็นต้น ในขณะเดียวกัน จะปรับปรุงระบบสาธารณสุขทั่วโลกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับโรคระบาดในอนาคต  
     ๒.๒ กลุ่ม G20 จะดำเนินมาตรการสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและบริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อม และมีการเพิ่มเงินทุนจำนวน ๕ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้เศรษฐกิจโลก เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเงิน จากการระบาดของโรคในครั้งนี้ และจะดำเนินนโยบายทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อลดผลกระทบของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งฟื้นฟูการพัฒนาของโลก การรักษาความมั่นคงทางการตลาด รวมถึงส่งเสริมความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กลุ่ม G20 จะพยายามประกันการนำเข้า-ส่งออกเวชภัณฑ์สำคัญ สินค้าการเกษตรที่สำคัญ สินค้าประเภทอื่นๆ ตลอดจนการบริการให้ดำเนินไปอย่างปกติ และแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

บทสรุป
 
ประชาคมโลกต้องการการส่งเสริมความร่วมมือ เพื่อรับมือกับการท้าทายร่วมกัน โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ผ่านพ้นไป ความต้องการด้านการบริโภคที่เกี่ยวข้องจะกลับสู่ภาวะปกติ แรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของจีน เช่น 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อี-คอมเมิร์ซ คอร์สออนไลน์ และการผลิตแบบอัจฉริยะ ฯลฯ รวมทั้งการที่จีนมุ่งแก้ไขจุดอ่อน โดยจะเพิ่มการลงทุนในด้านการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุข และเพิ่มความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินให้มากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ปัจจัยทางการตลาดขนาดใหญ่และความต้องการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะยังเป็นแรงผลักดันที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลก  

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์