จีนกับอาเซียนกำลังดำเนินความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่างประเทศ
๑. จากเหตุการณ์เกิดคลื่นสึนามิถล่มในช่องแคบซุนดราของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๒๐ ธ.ค.๖๑ ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นและเร่งด่วนที่ประเทศในภูมิภาคนี้จะต้องเร่งดำเนินความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งขณะนี้ จีนกับอาเซียนกำลังดำเนินความร่วมมือในด้านนี้ โดยทั้งสองฝ่ายกำลังหารือเรื่องการลงนามในบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ จีนและศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ ยังได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังได้หารือกับ ๖ ประเทศอาเซียน ซึ่งรวมทั้งอินโดนีเซียเรื่องวางแผนจัดตั้งระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ
๒. จีนและอาเซียนยังได้จัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติในด้านต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุมในภูมิภาคอาเซียน เช่น การจัดการภัยทางทะเล การรับมือกับภัยแผ่นดินไหว การพัฒนาทักษะในการค้นหาผู้ประสบภัยในเขตเมือง การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ และการบรรเทาภัยในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติ และกำลังหาทางจัดตั้งกลไกเตือนภัยธรรมชาติ เป็นต้น
๓. ข้อสังเกต ในระหว่างวันที่ ๕ – ๖ ก.ย.๖๑ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานสัมมนาวิจัยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติระหว่างจีนกับอาเซียนที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) โดยเจ้าหน้าที่จากฝ่ายบริหารภัยพิบัติและช่วยเหลือทางสิทธิมนุษยธรรมของสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ระบุว่า ในระยะหลายปีมานี้ จีนได้มีการถ่ายโอนเทคนิคป้องกันและบรรเทาภัยแก่อาเซียน และดำเนินการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งโดรนและอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูงที่จีนเสนอให้อาเซียนนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอาเซียนในการรับทราบสภาพการประสบภัยและลดผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
บทสรุป
กรอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่างจีนกับอาเซียน อยู่ภายใต้แผนงานข้อตกลงว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (the ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response – AADMER) และการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานงานเพื่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติอาเซียน (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management – AHA Centre) ดังนั้น ในโอกาสที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๖๒ จึงควรแสดงบทบาทในการสานต่อกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.xinhuanet.com/english/2018-12/27/c_137702711.htm
http://thai.cri.cn/20181228/954be9eb-1c6d-4ae6-3065-466279811d04.html
http://thai.cri.cn/247/2018/09/06/63s270866.htm
http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=1765&filename=index_2