ความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีน ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+๓ ครั้งที่ ๒๒ เมื่อวันที่ ๒ พ.ค.๖๒ ที่เมืองนาดี ประเทศฟิจิ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในที่ประชุมของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+๓ ครั้งที่ ๒๒ ที่ได้เน้นหารือสถานการณ์เศรษฐกิจระดับมหภาคทั่วโลกและในภูมิภาค รวมถึงได้หารืออนาคตความร่วมมือด้านการเงินในส่วนภูมิภาคอาเซียน+๓ ตลอดจนกลไกการปฏิรูป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมโดยระบุว่า จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนภูมิภาคและของโลก ขณะที่ นายหลิว คุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจีน ได้เสนอต่อที่ประชุม ๓ ประเด็น ได้แก่
๑.๑ ต้องแสวงหาหนทางการพัฒนาบนพื้นฐาน “มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี” (Chiang Mai Initiative Multilateralisation) หรือ CMIM ในอนาคต โดยเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือเครือข่ายการเงินในภูมิภาค
๑.๒ เพิ่มศักยภาพการดูแลเศรษฐกิจของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+๓
๑.๓ ต้องบรรลุเป้าหมายตามโรดแมประยะกลางของ “มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย” (Asian Bond Markets Initiative) หรือ ABMI ฉบับใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาค
๒. สำหรับในส่วนของไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคที่ผ่านมา ทิศทางเชิงกลยุทธ์ของการดำเนินการทางการเงินของอาเซียน+๓ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็น พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) AMRO ซึ่งที่ประชุม AFMGM+3 ยืนยันที่จะสนับสนุน AMRO อย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีอิสระ น่าเชื่อถือ และเป็นมืออาชีพ มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ตลอดจนความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+๓ สำหรับเงินทุนและการประกันภัยเพื่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (The Southeast Asia Disaster Risk Insurance Facility: SEADRIF)
บทสรุป
ในที่ประชุมฯ วันดังกล่าว ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจีน เป็นประธานการประชุมร่วม ได้เน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกและของภูมิภาค โดยกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตของโลกมีความแข็งแกร่งยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม และในปีนี้เป็นการครบรอบ ๒๐ ปีของการดำเนินการทางการเงินของอาเซียน+๓ (ASEAN+3 Finance Process) จึงได้มีการหารือถึงวิสัยทัศน์ในอนาคต รวมถึงแนวทางการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพสำหรับรองรับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://business.inquirer.net/269700/asean-east-asian-giants-affirm-fight-vs-trade-protectionism
http://thai.cri.cn/20190503/e1bd784b-5542-6f7a-ee7a-85a67000549f.html
https://www.ryt9.com/s/cabt/2984781
https://www.mof.go.jp/english/international_policy/convention/asean_plus_3/20190502.htm