ความเคลื่อนไหวของจีนที่สอดคล้องรองรับกับวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงที่ได้กล่าวไปเมื่อวันวาน ดังจะเห็นได้จากรูปแบบความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๒ ส.ค.๖๑ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้จัดการประชุมสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ หลังจากที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียน ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีสาระสำคัญว่า การประชุมครั้งนี้มีความกลมกลืนกัน มั่นคงและฉันมิตรมากกว่าเมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าความเชื่อถือระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียนมีมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนระหว่างกันและกัน นอกจากนี้ ผลงานใหญ่ที่สุดของการประชุมครั้งนี้ คือ ความสัมพันธ์จีน-อาเซียน ได้พัฒนาจากช่วงการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงการพัฒนาอย่างสุขุมรอบคอบ และเป็นความสัมพันธ์จีน-อาเซียนในยุคที่เน้นการพัฒนารอบด้าน
๒. สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น สำนักข่าว AFP ได้กล่าวถึงคำประกาศของจีน ในขณะที่มีรายงานว่า ร่างเอกสารของการประชุมฯ ถึงแม้จะยังคงสะท้อนถึงจุดยืนที่แตกต่างกันของหลายประเทศในการเจรจาทำความตกลงกำหนดแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ที่อาเซียนและจีนต่อรองกันมายาวนานหลายปีก็ตาม แต่การเจรจาครั้งล่าสุดนี้เริ่มแสดงให้เห็นความก้าวหน้า โดยในเนื้อหาของเอกสารนี้ เวียดนามยังคงมีจุดยืนแข็งกร้าวที่สุดในบรรดาชาติอาเซียน ต่อกิจกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ ที่จีนได้อ้างอธิปไตยเกือบทั้งหมด แม้หลายประเทศยังอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนอยู่ โดยเวียดนามเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยุติการสร้างเกาะเทียมและตั้งค่ายทหาร ทว่าท่าทีของประเทศอื่นๆ กลับแสดงความต่อต้านขัดขืนน้อยลง อันเป็นการส่งสัญญาณว่า การต่อต้านคัดค้านจีนต่อการแผ่ขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้ได้ลดลง โดยเฉพาะในช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นผลมาจากการที่จีนยื่นมือให้การสนับสนุนประเทศต่างๆ ด้วยการดำเนินการผ่านโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI)
๓. ข้อสังเกต
๓.๑ จีนได้เสนอว่า จีนและอาเซียนสามารถสำรวจน้ำมันและแก๊สธรรมชาติร่วมกันในทะเลจีนใต้ได้ แต่จีนก็ยังคงเสนอในแบบเดียวกันว่า บริษัทจากประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคนี้ ไม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ (โดยนัยแล้วหมายถึงสหรัฐฯ) ซึ่งนายหวัง อี้ มนตรีแห่งนรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวเน้นว่า หากปราศจากการก่อกวนจากภายนอกแล้ว การปรึกษาหารือเรื่องแนวทางปฏิบัตินี้จะรุดหน้าเร็วขึ้น ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนกำลังก้าวกระโดดทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพ และการฝึกทางทะเลร่วมกันครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้
๓.๒ ฮวง ทิ ฮา นักวิเคราะห์จากศูนย์อาเซียนศึกษาของเวียดนาม ได้ให้ทัศนะว่า จากการเสนอแนะให้ตัดประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคนั้น หมายถึงจีนเพ่งเล็งเป้าหมายไปที่สหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัดเจน
บทสรุป
การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียน ครั้งนี้ ได้มีการประกาศถึงการเห็นพ้องกันเกี่ยวกับเนื้อหาการเจรจาเพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ โดย วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานการประชุม กล่าวถึงร่างแนวทางปฏิบัติดังกล่าวว่า เป็นการบรรลุผลสำเร็จครั้งใหญ่ สำหรับเนื้อหาของร่างเอกสารดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการที่จีนเสนอว่า จีนและอาเซียนควรจัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ แต่การฝึกนี้ไม่ควรมีประเทศที่อยู่นอกภูมิภาค (โดยนัยแล้วหมายถึงสหรัฐฯ) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงหลายปีมานี้สหรัฐฯ ได้ให้สนับสนุนหลายประเทศเพื่อที่จะคัดค้านการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ และช่วงที่ผ่านมาพบว่า อิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ครอบงำน่านน้ำแปซิฟิกตะวันตก โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ได้ลดน้อยถอยลง ดังนั้น การเสนอการฝึกทหารร่วมกับอาเซียนของจีนนั้น จึงเป็นการแสดงถึงความพยายามของจีนในการส่งข้อความเป็นนัยต่อโลกว่า อาเซียนและจีนสามารถทำงานร่วมกันได้ และสิ่งต่างๆ กำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ประเทศนอกภูมิภาคจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ จึงน่าติดตามว่า สหรัฐฯ จะพลิกบทบาทเดินหมากเกมนี้กับจีนต่อไปอย่างไร และบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนจะปรับท่าทีรองรับในลักษณะใด โดยเฉพาะประเทศไทยที่ต้องรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีหน้า
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://m.washingtontimes.com/news/2018/aug/3/china-asean-navies-stage-1st-emergency-drills-amid/
https://www.thebangkokinsight.com/31677
https://www.thaipost.net/main/detail/14613
http://thai.cri.cn/247/2018/08/03/230s269714.htm