bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๗ ธ.ค.๖๓ : การวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านภูมิยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจมณฑลยูนนานของจีน ต่อเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านภูมิยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจมณฑลยูนนานของจีน ต่อเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
๑. ความเป็นมา  เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๘ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เยือนมณฑลยูนนาน และได้ขอให้ทางมณฑลได้รับใช้ประเทศในเชิงรุก ด้วยการบูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด และมุ่งมั่นการเป็นเขตสาธิตเพื่อความก้าวหน้าในการบุกเบิกการสร้างอารยธรรมระบบนิเวศโดยมุ่งหน้าสู่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาในเดือนมกราคมปีนี้ (พ.ศ.๒๕๖๓) เลขาธิการฯ สี จิ้นผิง ได้กลับไปเยือนยูนนานอีกครั้งในรอบ ๕ ปี และได้ย้ำอีกครั้งว่า มณฑลยูนนานควรพยายามสร้างความก้าวหน้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในการเป็นศูนย์กลางสู่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ภายใต้กรอบการดำเนินการตามข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง"  (“一带一路”) ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลยูนนานก็ได้ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมโดยมุ่งเน้นที่เป้าหมายดังกล่าว จนทำให้อันดับรวมทางเศรษฐกิจในจีนของมณฑลยูนนานเลื่อนขึ้นจากลำดับที่ ๒๔ เป็นอันดับที่ ๑๘ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของมณฑลยูนนานอีกหลายประการ
 
๒. ปัจจัยที่เป็นข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของมณฑลยูนนานในด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจต่อเอเชียใต้และการเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     ๒.๑ ข้อได้เปรียบด้านทำเลที่เชื่อมโยงด้วยภูเขาและแม่น้ำ ซึ่งตั้งแต่ยุคสมัยราชวงศ์ฮั่นที่ได้เปิดเส้นทางสายไหมทางใต้ไปยังเมืองเทียนจูและเมืองต้าฉิน ทำให้ยูนนานกลายเป็นศูนย์กลางการกระจายวัตถุดิบที่สำคัญบนเส้นทางสายไหมทางใต้ตลอดมา
     ๒.๒ ความได้เปรียบทางการค้าของประเพณีโบราณ โดยเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญสำหรับการค้าทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับเมียนมาร์ อินเดีย และบังคลาเทศมาโดยตลอด
     ๒.๓ ข้อได้เปรียบเชิงนโยบายของผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทสขนาดใหญ่ต่างกระตือรือร้นที่จะขยายความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน - อินเดียกับการลงทุนทางเศรษฐกิจ
 
๓. ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของยูนนานต่อการเดินหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     ๓.๑ ประเด็นข้อขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่ขัดขวางการพัฒนาของภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงและหุบเขาสูงชัน ส่งผลให้มีต้นทุนสูงและระยะเวลาในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและถนนที่นาน จึงยากที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
     ๓.๒ การอยู่ร่วมกันของหลายวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการก่อตัวของวัฒนธรรมหลัก โดยทำให้เกิดเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์
     ๓.๓ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะยาวและนโยบายที่ผันผวนในเมียนมาร์ ทำให้มีการแทรกแซงของกองกำลังภายนอก  
     ๓.๔ ความสัมพันธ์จีน – อินเดีย กับการส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระดับภูมิภาค จากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ค่อนข้างซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา
 
๔. มาตรการเชิงยุทธศาสตร์ของมณฑลยูนนานต่อภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     ๔.๑ การกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านการเกษตรกับประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะด้านการเกษตรข้ามพรมแดนในการพัฒนาการปลูกพืชทางเลือก และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของยูนนาน
     ๔.๒ การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมร่วมกับประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  
     ๔.๓ การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียม
     ๔.๔ การเสริมสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมกับประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
บทสรุป

แนวคิดเกี่ยวกับภูมิยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน ได้ส่งผลต่อการพัฒนาในอนาคต โดยมณฑลยูนนานจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างประเทศบนพื้นฐานของความร่วมมือจีน-อาเซียน ควบคู่ไปกับทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของมณฑลยูนนาน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตระหว่างประเทศรอบใหม่ของจีนทั้งในด้านประชากร โลจิสติกส์ และพลังงาน (ท่อส่งน้ำมันและก๊าซจีน – เมียนมาร์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา และท่อส่งน้ำมันดิบได้ส่งน้ำมันมากกว่า ๒๐ ล้านตันในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา) ทั้งนี้ อีกไม่นานจะพบว่า นครคุนหมิงซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลยูนนานจะกลายเป็น“ เพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุด” ของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เวลาเดินทางเพียงไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากความสะดวกสบายของรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://mp.weixin.qq.com/s/jpmUy3CwFh70wzH9hDkXAw

http://m.yunnan.cn/system/2020/09/27/031002679.shtml