มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในรายงานของกรมสถิติแห่งชาติจีน ระบุถึงสภาวะทางด้านการศึกษาของจีนว่า
๑.๑ ปัจจุบัน การให้บริการทางการศึกษาของจีนมีความทั่วถึงในระดับกลางและอันดับต้นของโลก ช่วงเริ่มก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี ๑๙๔๙ หรือ พ.ศ.๒๔๙๒) ประชากรจีนร้อยละ ๘๐ ไม่รู้หนังสือ ต่อมาในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มีผู้ที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี และสำเร็จการศึกษาภาคบังคับมีจำนวนร้อยละ ๙๔.๒
๑.๒ จีนมีนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) จำนวน ๒๘.๓๑ ล้านคน ขณะที่ประชากรอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปได้รับการศึกษาเฉลี่ย ๙.๖ ปี โดยสถิติดังกล่าวยังแสดงอีกว่า ช่วง ๗๐ ปีตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน กิจการการศึกษาของจีนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การศึกษามีความทั่วถึงมากขึ้นมาโดยตลอด ความสามารถด้านการสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมากและมีบุคลากรด้านนี้นับวันยิ่งมากขึ้น ทั้งนี้ ถือเป็นส่วนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนเป็นอย่างมาก
๒. คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะรัฐมนตรีจีนจัดพิมพ์และเผยแพร่เอกสารเรื่อง “การสร้างความทันสมัยด้านการศึกษาของจีน ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘)” โดยเอกสารดังกล่าวได้กล่าวถึง
๒.๑ เป้าหมาย สำหรับในภาพรวมคือ เมื่อถึงปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาตาม “แผน ๕ ปีฉบับที่ ๑๓” ทุกด้าน กำลังด้านการศึกษาจะเข้มแข็งและมีอิทธิพลทางสากลมากขึ้น ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจะเข้ารับการศึกษาได้นานมากขึ้น กระบวนการสร้างความทันสมัยด้านการศึกษาจะประสบผลคืบหน้าสำคัญ ต่อจากนั้นจะใช้ความพยายามอีก ๑๕ ปี โดยในปี ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) จะบรรลุเป้าหมายการสร้างความทันสมัยด้านการศึกษา และเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านการศึกษา
๒.๒ การกำหนด ๘ แนวทาง ในการเดินหน้าสร้างความทันสมัยด้านการศึกษา คือ
(๑) เชิดชูคุณธรรม
(๒) พัฒนาคนรอบด้าน
(๓) เข้าถึงการศึกษาถ้วนหน้า
(๔) เรียนรู้ตลอดชีวิต
(๕) การเรียนการสอนแบบตรงจุด
(๖) การตระหนักรู้จากภายในและนำไปใช้
(๗) พัฒนาคนแบบเบ็ดเสร็จ
(๘) ร่วมส่งเสริมและเข้าถึงการศึกษา
บทสรุป
เมื่อวันที่ ๓ มิ.ย.๖๒ ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการของจีนประกาศข้อมูลใหม่ล่าสุดว่า ปัจจุบัน จีนยังคงเป็นประเทศเป้าหมายปลายทางที่สำคัญใหญ่สุดในการมาศึกษาต่อต่างประเทศของนักศึกษาจากเอเชีย โดยจำนวนผู้ที่มาศึกษาในจีนมีระดับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และการเลือกวิชาเรียนก็สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มีนักศึกษาจาก ๑๙๖ ประเทศและเขตแคว้นจำนวน ๔๙๒,๒๐๐ คนเดินทางมาศึกษา ค้นคว้าวิจัยหรือรับการอบรมในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีสถาบันวิจัยและองค์กรการศึกษา ๑,๐๐๔ แห่งที่กระจายอยู่ใน ๓๑ มณฑล เขตปกครองตนเองและเมืองที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางของจีน และพบว่า มีนักศึกษาที่เลือกเรียนด้านวิศวกรรม การบริหาร วิทยาศาสตร์ ศิลปะและการเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ๒๐% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการจัดการศึกษาที่ชัดเจน โดยสอดคล้องรองรับกับแผนพัฒนาประเทศแบบบูรณาการอย่างแท้จริง
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
https://www.scmp.com/topics/china-education
http://thai.cri.cn/20190706/eb25d84d-f1ae-df27-ad2d-97e66590e67f.html
http://thai.cri.cn/20190224/1070d9a2-8ce5-1d84-4963-98bb9be676de.html
http://thai.cri.cn/20190605/1c17139c-8cb8-ed53-e012-bded3d252871.html