บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการแข่งขัน ในการแผ่ขยายอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จนเกิดสงครามการค้าและแนวโน้มที่จะขยายไปสู่สงครามอย่างรอบด้านภายใต้แนวคิดเรื่อง “อินโด - แปซิฟิก (Free and Open Indo – Pacific)” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในช่วงการประชุม APEC ที่นครดานัง เวียดนาม เมื่อเดือน พ.ย.๖๐ โดยเน้นความร่วมมืออย่างจริงจังในด้านการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศในอินโด - แปซิฟิก ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดและท่าทีทางยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียกล่าวคือ
๑.๑ ท่าทีของญี่ปุ่น ที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้ากับอินเดียและแอฟริกามากขึ้นในด้านเศรษฐกิจ และเน้นส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านการเมือง ดังที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “Confluence of the Two Seas” ที่รัฐสภาอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ และเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งเป็นช่วงที่บทบาทของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในขณะที่บทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียเริ่มลดลง
๑.๒ ท่าทีของอินเดีย ซึ่งมีความกังวลต่อการขยายอิทธิพลของจีนในมหาสมุทรอินเดียผ่านการสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานของจีนในภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิ บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และปากีสถาน ภายใต้แนวคิด Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งอินเดียมองว่าส่งผลกระทบต่อการเมืองและความมั่นคงของอินเดียโดยตรง
๑.๓ ท่าทีของออสเตรเลีย ที่กังวลต่อสภาวะความเสี่ยงด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้จากบทบาทของจีน จึงได้เผยแพร่เอกสาร Foreign Policy White Paper 2017 เมื่อเดือน พ.ย.๖๐ โดยกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียใน ๑๐ ปีข้างหน้า ที่มุ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
๒. แนวคิดและทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
๒.๑ อดีตศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยมิชิแกนชื่อ ออแกนสกี้ (A.F.K. Organski) ได้กล่าวถึง ปรากฏการณ์ของสงครามอันเกิดจากการที่มหาอำนาจเก่าต้องการรักษาความเป็นมหาอำนาจไว้ โดยการทำลายมหาอำนาจใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมามีอำนาจ
๒.๒ ศาสตราจารย์โจเซฟ นาย (Joseph Nye) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนบทวิเคราะห์ในนิตยสาร Financial Times ได้วิเคราะห์จุดแข็งของสหรัฐฯ ที่ยังคงเหนือกว่าจีน ใน ๔ เรื่อง กล่าวคือ
๒.๒.๑ ที่ตั้งของสหรัฐฯ สหรัฐฯ เข้าถึงมหาสมุทรทั้งสองฝั่ง และมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งต่างจากจีน ที่มีอาณาเขตติดกับ ๑๔ ประเทศ แต่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับประเทศต่างๆ รอบทุกทิศ
๒.๒.๒ ความมั่นคงทางพลังงาน โดยที่สหรัฐฯ ไม่ต้องนำเข้าน้ำมัน ซึ่งต่างจากจีน ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง และนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากรัสเซีย
๒.๒.๓ จีนพึ่งพิงสหรัฐฯ มากกว่าสหรัฐฯ พึ่งพิงจีนในเรื่องการค้า
๒.๒.๔ เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังจะเป็นเงินสกุลหลักของระบบการเงินโลกไปอีกนาน
๒.๓ เอียน เบรมเมอร์ (Ian Bremmer) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศ เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังจะครองโลกอนาคตโดยจีนมีจุดแข็งใน ๔ เรื่อง กล่าวคือ
๒.๓.๑ เงินทุนใหญ่ที่ควบคุมโดยรัฐ รัฐบาลจีนสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินกับอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ เช่น โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI)
๒.๓.๒ จีนน่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้ดีกว่าสหรัฐฯ
๒.๓.๓ จีนกุมเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยจีนมีความตั้งใจชัดเจนที่จะเป็นผู้นำในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence)
๒.๓.๔ อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาเดินตามโมเดลจีน
๒.๔ ศาสตราจารย์ ไมเคิล แคลร์ (Michael T. Klare) ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและความมั่นคงของโลก จากวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดสงครามระหว่างสหรัฐกับจีนในทุกๆ ด้าน โดยวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่มีการประกาศเปลี่ยนชื่อ “กองบัญชาการทหารภาคแปซิฟิก (PACOM)” ซึ่งทำหน้าที่ดูแลกำลังทหารของสหรัฐทั้งหมดในเอเชีย เปลี่ยนมาเป็น “กองบัญชาการทหารภาคอินโด-แปซิฟิก ( INDOPACOM) โดยสหรัฐฯ ต้องการคงความเป็นมหาอำนาจทั้งในมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะที่จีนกำลังมีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”หรือ BRI
บทสรุป
สหรัฐฯ มีความหวาดระแวงต่อการได้เปรียบดุลการค้าของจีน จนทำให้นำไปสู่การประกาศสงครามการค้ากับจีน ซึ่งนักวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศเห็นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจนำไปสู่สงครามแบบรอบด้านระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเฉพาะจากแนวคิดของนายปีเตอร์ นาวาร์โร ซึ่งที่ปรึกษาคนสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ของจีนเช่น AI จะเป็นภัยคุกคามไม่เฉพาะแต่ด้านการค้า แต่สามารถนำไปใช้ในทางด้านการทหารด้วย จึงมีโอกาสที่จะนำไปสู่การทำสงครามแบบรอบด้าน ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ พร้อมกับการเกิดขึ้นของแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ที่จีนมองว่า สหรัฐฯ กำลังร่วมมือกับญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เพื่อต้องการปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ในขณะที่จีนกำลังเดินหน้าโครงการ BRI ซึ่งจะทำให้จีนสามารถเชื่อมโยงทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา รวมทั้งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.tomdispatch.com/post/176438/tomgram:_michael_klare,_is_a_war_with_china_on_the_horizon/
https://www.prachachat.net/world-news/news-181950
http://www.vijaichina.com/…/อนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างจีน...
http://www.eastasiawatch.in.th/th/articles/politics-and-economy/683/
https://prachatai.com/journal/2018/05/76821
https://www.the101.world/who-rules-the-world/
https://prachatai.com/journal/2018/05/76821