bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑ ส.ค.๖๒ การปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของจีน

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหลี่ เค่อเฉียง ในฐานะกรรมการประจำกรมการเมือง คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและนายกรัฐมนตรีจีน ได้มีคำสั่งการว่าด้วยการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยระบุว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกคน เป็นกระบวนการพื้นฐานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งต้องดำเนินงานภายใต้แนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีนในยุคใหม่ รวมทั้งการปฏิบัติตามการวางแผนของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีน

๒. เมื่อต้นปีนี้ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีน ได้จัดพิมพ์และเผยแพร่เอกสารเรื่อง “การสร้างความทันสมัยด้านการศึกษาของจีน ๒๐๓๕” โดยได้กำหนด ๘ แนวทาง ในการเดินหน้าสร้างความทันสมัยด้านการศึกษาคือ (๑) เชิดชูคุณธรรม (๒) พัฒนาคนรอบด้าน (๓) เข้าถึงการศึกษาถ้วนหน้า (๔) เรียนรู้ตลอดชีวิต (๕) การเรียนการสอนแบบตรงจุด (๖) การตระหนักรู้จากภายในและนำไปใช้ (๗) พัฒนาคนแบบเบ็ดเสร็จ และ (๘) ร่วมส่งเสริมและเข้าถึงการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาตาม “แผน ๕ ปีฉบับที่ ๑๓” ทุกด้าน ในภาพรวมคือ ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยกำลังด้านการศึกษาจะเข้มแข็งและมีอิทธิพลทางสากลมากขึ้น และประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจะเข้ารับการศึกษาได้นานมากขึ้น รวมถึงกระบวนการสร้างความทันสมัยด้านการศึกษาจะประสบผลคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ต่อจากนั้น จะใช้ความพยายามอีก ๑๕ ปี โดยในปี ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างความทันสมัยด้านการศึกษา เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านการศึกษา

๓. การเน้นย้ำให้มีความพยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมความยุติธรรม เพื่อให้ศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นที่พอใจของประชาชน โดย
        ๓.๑ ต้องจัดสรรทรัพยากรทุนการศึกษาให้ดี และสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ยากจนให้มากขึ้น โดยส่งเสริมการศึกษาภาคบังคับให้พัฒนาอย่างสมดุล รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการเข้าเรียนในพื้นที่ห่างไกล และนักเรียนจากครอบครัวยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียน ตลอดจนคุ้มครองให้บุตรหลานของคนที่เข้ามาทำงานในเมืองได้รับโอกาสทางการศึกษา
        ๓.๒ ต้องทำให้การศึกษามีความยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้น โดยต้องจัดระบบการศึกษาก่อนเข้าเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ แก้ไขปัญหาการศึกษาปฐมวัย ขยายการครอบคลุมด้านการศึกษาช่วงมัธยมปลาย พัฒนาการศึกษาแบบอินเทอร์เน็ตพลัส ช่วยให้นักเรียนมีทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มมาตรการป้องกันความปลอดภัยของโรงเรียน สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยให้ผู้ปกครองไว้วางใจ ทำให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ
        ๓.๓ คุ้มครองให้ครูที่รับผิดชอบการศึกษาภาคบังคับได้รับเงินเดือนอย่างทั่วถึง ชักชวนให้ทั้งสังคมสนใจการศึกษาภาคบังคับ เพื่อทำให้อนาคตการศึกษามีความก้าวหน้า

บทสรุป
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นที่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประเทศจีน ซึ่งนอกจากต้องมีความพยายามในการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยมีมาตรการต่างๆ รองรับแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนการศึกษากับต่างประเทศ เช่น เมื่อวันที่ ๒๒ ก.ค.๖๒ ที่เขตกุ้ยอันของมณฑลกุ้ยโจว ได้มีการจัดกิจกรรม “สัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาระหว่างจีน-อาเซียน ๒๐๑๙” โดยมี ผู้บริหารการศึกษา เจ้าหน้าที่หน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ รวมทั้งนักศึกษาจากจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน จำนวนกว่า ๒,๔๐๐ คน เข้าร่วมสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “กระชับความร่วมมือที่เห็นผล ร่วมแบ่งปันความสำเร็จด้านการพัฒนา” ซึ่งได้จัดให้มีฟอรั่มเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ด้านการศึกษา เช่น ความร่วมมือด้านอุดมศึกษา ความร่วมมืออาชีวศึกษา ความร่วมมือเกี่ยวกับการเริ่มต้น และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชน เป็นต้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจาก
http://en.moe.gov.cn/news/press_releases/201907/t20190730_392698.html  

http://thai.cri.cn/20190730/4f1a70e7-9c8d-8d2e-385c-9499ce7c13d5.html  

http://thai.cri.cn/20190723/a972910c-f4a1-e11f-afea-913c80a3b659.html  

http://thai.cri.cn/20190224/1070d9a2-8ce5-1d84-4963-98bb9be676de.html 

http://thai.cri.cn/20190716/a80dd4cb-f107-eb9f-df60-d233e107946a.html  

http://thai.cri.cn/20190717/2aeff1d6-8024-a562-331f-f28884ebb70b.html