bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ต.ค.๖๑ : กรณีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศยกย่องวีรกรรมของนายหวัง จี้ไฉ

กรณีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศยกย่องวีรกรรมของนายหวัง จี้ไฉ (王继才) ผู้บัญชาการป้อมยามทหารบ้านประจำเกาะไคซาน ที่ได้ดูแลพิทักษ์ชาติมาเป็นเวลา ๓๒ ปี และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๒๗ ก.ค.๖๑ ในขณะอายุ ๕๘ ปี ให้เป็นวีรชนผู้รักชาติโดยการเสียสละ และเป็นแบบอย่างแห่งยุคสมัยสำหรับการสร้างค่านิยมยุคใหม่ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. วีรกรรมที่ได้รับการยกย่องให้เป็นตัวอย่างของการรณรงค์ปลูกจิตสำนึก ความรักชาติและความเสียสละ เพื่อเป็นค่านิยมให้กับบรรดาคนรุ่นใหม่
        ๑.๑ ปี ค.ศ.๑๙๘๖ (พ.ศ.๒๕๒๙) นายหวัง จี้ไฉ ในวัย ๒๖ ปี เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ที่เกาะไคซาน ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลเหลือง ห่างจากท่าเรือเยี่ยนเหว่ยของเมืองเหลียนหยุนก่าง (Lianyungang) มณฑลเจียงซู (Jiangsu Province) ๑๒ ไมล์ มีพื้นที่เพียง ๑๓,๐๐๐ ตารางเมตร หรือเท่ากับสนามฟุตบอล ๒ สนามเท่านั้น โดยเมื่อปี ค.ศ.๑๙๓๙ (พ.ศ.๒๔๘๒) ทหารญี่ปุ่นได้เคยยึดเกาะไคซานก่อนจะขึ้นบก เนื่องจากเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ และเป็นจุดรักษาการณ์แนวหน้าของทะเลเหลือง แม้ว่าจะเป็นเกาะที่ถูกโดดเดี่ยวอยู่กลางทะเล และการเดินทางไปโดยเรือต้องใช้เวลานับชั่วโมง รวมทั้งสภาพบนเกาะเป็นเกาะร้าง นอกจากนี้ ยังมีไต้ฝุ่นพัดผ่านบ่อยครั้ง ทำให้เรือทั่วๆ ไปแทบเข้าเทียบท่าไม่ได้ ดังนั้น การเดินทางไปอยู่ที่เกาะแห่งนี้นั้น แทบไม่ต่างอะไรจากการติดคุกที่อยู่บนเกาะ
        ๑.๒ นายหวัง จี้ไฉ พร้อมกับภรรยาได้ถือเอาเกาะไคซานแห่งนี้เป็นบ้าน โดยดูแลรักษาเกาะนี้อย่างโดดเดี่ยว ที่ถูกตัดขาดจากระบบน้ำประปาและไฟฟ้า แม้พืชพันธุ์ก็ยากที่จะอยู่รอด แต่นายหวังฯ ก็ได้มอบทั้งชีวิตให้กับภารกิจการป้องกันพื้นที่น่านน้ำของประเทศ จนปี ค.ศ.๒๐๑๔ (พ.ศ.๒๕๕๗) นายหวัง จี้ไฉ พร้อมกับภรรยาได้รับการยกย่องเป็น"แบบอย่างแห่งยุคสมัย" ระดับชาติ

๒. ชีวิตของนายหวัง จี้ไฉ หลังจากการได้รับการแต่งตั้งจากทางการท้องถิ่นเมื่อเดือน ก.ค. ๑๙๘๖ ให้เป็น "เจ้าของเกาะไคซานรุ่นที่ ๕” โดยเจ้าของเกาะ ๔ รุ่นก่อนหน้า ล้วนปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่นาน กล่าวถือ นานที่สุด ๑๓ วัน และสั้นที่สุด ๓ วัน
        ๒.๑ นายหวัง จี้ไฉ ได้ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะไคซาน นานถึง ๓๒ ปี เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ได้จัดเตรียมอาหาร เสื้อผ้า และสิ่งของจำเป็น เพื่อเดินทางไปที่เกาะอย่างไม่ลังเลใดๆ ทั้งสิ้น โดยเห็นว่า ควรมีคนรักษาเกาะ และเมื่อได้ให้คำมั่นกับทางการแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามให้ได้
        ๒.๒ ภารกิจประจำวันตลอดช่วง ๓๒ ปีที่ผ่านมา นายหวัง จี้ไฉและภรรยา จะต้องเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ทุกวัน เพื่อแสดงว่าเกาะแห่งนี้เป็นดินแดนของมาตุภูมิ ซึ่งทั้งนายหวัง จี้ไฉและภรรยา มีหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติงานที่ต้องลาดตระเวนด้วยกัน สังเกตสถานการณ์ในทะเลด้วยการแยกแยะเรือ และในแต่ละวันจะต้องลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับการดูแลชายแดนทางทะเลตามข้อกำหนด หากเกิดกรณีฉุกเฉินก็จะแจ้งให้หน่วยเหนือทราบอย่างทันเวลา สำหรับธงชาติที่อยู่บนยอดเสาบนเกาะนั้น ได้ถูกลมทะเลพัดจนเสียหายไปกว่า ๑๙๐ ผืน ขณะที่ได้บันทึกการดูแลพื้นที่ชายแดนทางทะเลเป็นจำนวนมากกว่า ๔๐ เล่ม และมีวิทยุที่เคยใช้งานแต่ปัจจุบันใช้การไม่ได้แล้วจำนวนกว่า ๒๐ เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีตะเกียงน้ำมันที่ชำรุดแล้วกว่า ๑๐ อัน
        ๒.๓ ต่าตอบแทนที่ได้รับ เริ่มแรก นายหวัง จี้ไฉและภรรยามีเงินเดือนค่าดูแลรักษาเกาะปีละ ๓,๗๐๐ หยวน (ประมาณ ๑๘,๕๐๐ บาท) ต่อมาปี ค.ศ.๑๙๙๕ (พ.ศ.๒๕๓๘) มีการสร้างประภาคาร จึงมีเงินค่าดูแลรักษาเพิ่มอีก ๒,๐๐๐ หยวน โดยนายหวัง จี้ไฉและภรรยา ได้ยังชีพบนเกาะแห่งนี้ จากการหารายได้เสริมด้วยการจับสัตว์ทะเล ทั้งปลา กุ้ง หอย และปู ตัวเล็กๆ ก็ทำเป็นอาหาร ส่วนตัวใหญ่ๆ ก็ฝากเรือประมงนำกลับไปขายต่อที่ท่าเรือเป็นรายได้เสริม

บทสรุป

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึงสมาชิกครอบครัวของนายหวัง จี้ไฉ ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเอาใจใส่และให้กำลังใจแก่บุคลากรที่มุ่งมั่นเสียสละในตำแหน่งงานที่ยากลำบากเป็นเวลานานอย่างนายหวัง จี้ไฉ โดยหน่วยงานทุกระดับควรให้การสนับสนุนและบรรเทาความเดือดร้อนต่างๆ แก่สมาชิกครอบครัวของนายหวัง จี้ไฉ นอกจากนี้ ควรให้การเอาใจใส่มากขึ้นกว่าเดิมทั้งด้านแนวคิด การงาน และการใช้ชีวิต เพื่อส่งเสริมความรักชาติและความเสียสละ อันเป็นการสร้างค่านิยมสำหรับยุคใหม่

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://baike.baidu.com/item/%E7%8E%8B%E7%BB%A7%E6%89%8D/5477460 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/04/242s271825.htm 

https://zh.wikipedia.org/wiki/%E7%8E%8B%E7%BB%A7%E6%89%8D 

http://www.xinhuanet.com/politics/leaders/2018-08/06/c_1123228928.htm 

http://www.chinanews.com/sh/2018/07-30/8583772.shtml