กรณีที่จีนแสดงจุดยืนต่อหลักการใช้อวกาศส่วนนอกด้วยความปลอดภัย และคัดค้านการแข่งขันด้านอาวุธ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๓ เม.ย.๖๒ นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า ฝ่ายจีนแสดงความเสียใจต่อการที่หนังสือกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศส่วนนอกของสหประชาชาติไม่ผ่านการพิจารณา โดยจีนหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าร่วมกระบวนการควบคุมการแข่งขันด้านอาวุธ พิทักษ์สันติภาพและความปลอดภัยที่ยั่งยืนของอวกาศส่วนนอก ทั้งนี้ ฝ่ายจีนยึดหลักใช้อวกาศส่วนนอกด้วยความปลอดภัยมาโดยตลอด และคัดค้านการแข่งขันด้านอาวุธ
๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๕ ม.ค.๖๒ นางหวา ชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนอีกคนหนึ่ง ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรที่จะให้บริการต่อสันติภาพและการก้าวหน้าไปด้วยกันของมวลมนุษยชาติ โดยจีนยินดีที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ในด้านการสำรวจอวกาศรอบนอก อันเป็นผลมาจากก่อนหน้าที่จีนจะยิงส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ ๔ เมื่อช่วงปลายปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐฯ เสนอว่า จีนควรจะเสนอจุดตำแหน่งและเวลาที่ฉางเอ๋อ ๔ ลงจอด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และฝ่ายจีนก็ได้ให้ความร่วมมือ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมือกันในประเภทนี้
บทสรุป
ถึงแม้ว่าเป้าหมายในการพัฒนาโครงการการบินอวกาศของจีนจะมุ่งสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก็ตาม แต่ย่อมสร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งถึงกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๑๘ ธ.ค.๖๑ ให้จัดตั้งกองบัญชาการอวกาศของสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางทหารต่อการปฏิบัติภารกิจขนาดใหญ่ในห้วงอวกาศ ซึ่งคาดว่า สหรัฐฯ อาจจะใช้งบประมาณระหว่าง ๕,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการจัดตั้งกองบัญชาการอวกาศดังกล่าว
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.chinesemission-vienna.at/eng/fyrth/t1651102.htm
http://thai.cri.cn/20190404/85ff34da-5837-2e2a-2b6f-b421e13eaaf0.html
http://thai.cri.cn/20190116/3c4ab1c1-b9a9-1a27-67b8-9d934757759d.html
http://thai.cri.cn/20181219/5e563d1d-d837-48a4-9da4-f11faa18d000.html
https://edition.cnn.com/2019/04/05/politics/trump-space-command-location/index.html