bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิ.ย.๖๒ การเดินทางเยือนเอเชียกลางของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ มิ.ย.๖๒


มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางไปเยือนเอเชียกลาง โดยมีวาระสำคัญคือ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ครั้งที่ ๑๙ ที่สาธารณรัฐคีร์กีซ และเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของการประชุมมาตรการประสานงานและสร้างความมั่นใจในเอเชีย หรือ CICA ที่ประเทศทาจิกิสถาน
        ๑.๑ SCO ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๔ ที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยผู้นำจีน คาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งพัฒนามาจาก Shanghai Five เดิม ๕ ประเทศ ยกเว้นอุซเบกิสถาน ที่ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับพรมแดนของประเทศสมาชิก และต่อมาอุซเบกิสถานเข้าร่วมในปี พ.ศ.๒๕๔๔ จึงได้เปลี่ยนชื่อองค์การมาเป็นดังในปัจจุบัน และขยายขอบเขตความร่วมมือให้ครอบคลุมด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจการค้า วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา พลังงาน การคมนาคม
        ๑.๒ CICA ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย มีสมาชิก ๒๗ ประเทศ (สมาชิกต้องมีดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งในเอเชีย) ได้แก่ อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ มองโกเลีย ปากีสถาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ เกาหลีใต้ รัสเซีย ทาจิกิสถาน ไทย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุซเบกิสถาน เวียดนาม และศรีลังกา ทั้งนี้ ไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ ๑๗ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗

๒. SCO กับ CICA จึงเป็น ๒ เวทีพหุภาคีที่มีอิทธิพลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีกลุ่มประเทศยูเรเซีย (Eurasia) หลายประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของจีน ซึ่งทุกฝ่ายต่างจับตามองว่าผู้นำจีนจะเสนอข้อเสนอใหม่อะไรบ้างในเวทีดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อริเริ่มสำคัญที่ผู้นำสูงสุดของจีนเคยเสนอขณะเข้าร่วมการประชุมในครั้งก่อน ๆ ได้แก่
        ๒.๑ เมื่อปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ระบุขณะร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุม CICA ว่า จะเดินหน้าสร้างรูปแบบการบริหารด้านความมั่นคงที่มีเอกลักษณ์ของเอเชีย และยินดีต้อนรับประเทศนอกภูมิภาค มุ่งมั่นสร้างสรรค์เพื่อสันติภาพและการพัฒนาของเอเชีย
        ๒.๒ เมื่อปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) SCO ได้รับอินเดียและปากีสถานเป็นประเทศสมาชิก เป็นการเพิ่มสมาชิกเป็นครั้งแรก และในที่ประชุมสุดยอดฯ ปีเดียวกันนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ย้ำเป็นพิเศษว่า SCO ควรยึดหลักการเปิดเสรีและร่วมมือกันในการพัฒนา
๒.๓ เมื่อปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอ “วิสัยทัศน์ ๕ ประการ”เกี่ยวกับ SCO ในอนาคต คือ

               (๑) วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การประสานกลมกลืน รักษาสิ่งแวดล้อม เปิดเสรี และเข้าถึง
               (๒) วิสัยทัศน์การสร้างความมั่นคงด้วยกันในภาพรวมอย่างยั่งยืน
               (๓) วิสัยทัศน์การให้ความร่วมมือที่เปิดเสรี หลอมรวม อำนวยประโยชน์แก่กัน และมีชัยชนะร่วมกัน
               (๔) วิสัยทัศน์อารยธรรมที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นแบบอย่าง หารือ และเปิดรับซึ่งกันและกัน
               (๕) วิสัยทัศน์การบริหารโลกที่ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมสร้างสรรค์ และร่วมแล่งปันผลประโยชน์

๓. ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสำคัญของเอเชียกลาง
        ๓.๑ เอเชียกลางมีที่ตั้งอยู่ระหว่างเอเชียตะวันตกเฉียงใต้กับรัสเซีย ประกอบด้วยดินแดน ๒ ส่วน โดยมีทะเลสาบแคสเปียนคั่นอยู่ คือ ดินแดนด้านตะวันออกของทะเลสาบแคสเปียน ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซ เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน กับดินแดนทางด้านตะวันตกของทะเลสาบแคสเปียน ได้แก่ จอร์เจีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน ทั้งนี้ เอเชียกลางเป็นภูมิภาคที่เคยรวมอยู่กับดินแดนบางส่วนที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปเป็นประเทศสหภาพโซเวียตในอดีต ต่อมาดินแดนต่าง ๆ ของประเทศสหภาพโซเวียตทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียกลางได้ประกาศแยกออกเป็นสาธารณรัฐอิสระเพื่อปกครองตนเอง ทำให้ประเทศสหภาพโซเวียตต้องล่มสลายลงใน พ.ศ.๒๕๓๔
        ๓.๒ สาธารณรัฐในเอเชียกลางที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต มี ๘ ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซ เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน มีขนาดพื้นที่รวมกันประมาณ ๔.๒ ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของเนื้อที่ทวีปเอเชีย หรือร้อยละ ๑ ของพื้นผิวโลกทั้งหมด
        ๓.๓ เอเชียกลางมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งทางด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยคาซัคสถาน กับเติร์กเมนิสถาน คือผู้ส่งออกรายใหญ่ในด้านน้ำมันและก๊าซ ขณะที่คีร์กีซสถาน และ ทาจิกิสถาน มีปริมาณน้ำสำรองมากมายมหาศาล จึงมีศักยภาพมากที่สุดในด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ นอกจากนั้น ยังมีสินแร่ที่ยังไม่ถูกขุดค้นขึ้นมาทำประโยชน์อยู่เป็นจำนวนมากในอัฟกานิสถาน เป็นต้นว่า เหล็ก, ทองแดง, โคบอลต์, และลิเธียม คาซัคสถานก็มีสินแร่สำรองอยู่มากเช่นกัน ขณะที่คีร์กิซสถานในเวลานี้สามารถส่งออกทองเป็นปริมาณสูง ส่วนทาจิกิสถานก็มีศักยภาพที่จะทำการผลิตและส่งออกอลูมิเนียม

บทสรุป
จากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียกลาง ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเส้นทางสายไหมทางบก ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เสนอเมื่อปลายปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ขณะเดินทางเยือนประเทศคาซัคสถาน ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเพิ่มเส้นทาง การค้าเชื่อมโดยตรงระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรปโดยผ่านพื้นที่เอเชียกลาง ดังนั้น การเดินทางไปเยือนเอเชียกลางของผู้นำจีนในครั้งนี้ จึงถือเป็นวาระสำคัญที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ในขณะที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ส่งสารแสดงความยินดี ถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยอีกสมัยหนึ่ง โดยระบุในสารความตอนหนึ่งว่า “...จีน-ไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน ความสัมพันธ์สองประเทศมีความแน่นแฟ้น ความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จีนยินดีที่จะใช้ความพยายามร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินมิตรภาพจีน-ไทยที่มีมาช้านาน ลงลึกความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในทุกด้าน สร้างความผาสุกแก่ประชาชนทั้งสองประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม...”

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
http://www.xinhuanet.com/english/2019-06/10/c_138131683.htm

http://thai.cri.cn/20190611/9e0acbae-8d04-a82f-b464-a6cdc465121c.html

http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AroundTheWorld/geo/110.htm

http://www.thaiembassy.org/astana/th/thai-people

http://thai.cri.cn/20190612/bab07916-6076-fe99-176c-764cf879b369.html

https://mgronline.com/around/detail/9540000022292