bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พ.ย.๖๑ : ความเคลื่อนไหวทางการทหารของจีน

ความเคลื่อนไหวทางการทหารของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ย.๖๑ กองทัพอากาศจีนประกาศแผนการสร้างกองทัพอากาศที่ทันสมัยและเข้มแข็ง ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๖๙ ปีการก่อตั้งกองทัพอากาศจีน ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองจูไห่ มณฑลกว่างตง หรือ กวางตุ้ง (Zhuhai, Guangdong Province) โดยพลอากาศโทเสว์ อันเสียง รองผู้บัญชาการกองทัพอากาศจีนกล่าวในที่ประชุมว่า ยุทธศาสตร์การสร้างกองทัพอากาศที่ทันสมัยและเข้มแข็ง สอดคล้องกับเป้าหมายหลักด้านการสร้างสรรค์ และป้องกันประเทศ โดยกองทัพจีนได้ออกแบบแผนการดำเนินงาน ๓ ขั้นตอน ได้แก่
        ๑.๑ ยกระดับภาพรวมมาตรฐานเชิงยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) และเพิ่มศักยภาพด้านการสู้รบโดยใช้ระบบสารสนเทศเป็นหลัก
        ๑.๒ บนพื้นฐานการบรรลุเป้าหมายปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) กองทัพอากาศมุ่งมั่นพัฒนาระบบกองกำลังการรบของกองทัพอากาศขึ้นใหม่ ผลักดันศักยภาพการสู้รบระดับยุทธศาสตร์ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างยุทธศาสตร์ทัพอากาศให้เสร็จสิ้นเบื้องต้นในปี ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) เพื่อยกระดับศักยภาพการรบเชิงยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้น
        ๑.๓ ยกระดับยุทธศาสตร์กองทัพอากาศไปสู่ระดับแนวหน้าของโลกภายในกลางศตวรรษนี้ เพื่อเป็นกองกำลังการรบทางอากาศและอวกาศที่เข้มแข็ง สามารถสนับสนุนในฐานะประเทศขนาดใหญ่ และการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีน

๒. การเสริมกำลังกองทัพให้มีความเข้มแข็งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ท ที่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค.๖๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง ได้เดินทางไปดูงานที่เขตการรบภาคใต้ และได้กล่าวเน้นว่า จะต้องปฏิบัติตามแนวคิดของพรรคที่สร้างกองทัพให้เข้มแข็งในยุคใหม่ ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์การทหารภายใต้สถานการณ์ใหม่ เน้นการวิจัย การบัญชาการ และการสู้รบ เร่งสร้างองค์กรบัญชาการร่วมในเขตสงครามที่มีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการรบอย่างรอบด้าน และบรรลุหน้าที่ที่พรรคและประชาชนได้ให้ไว้

๓. ข้อสังเกต บรรดานักวิเคราะห์ทางการทหารให้ข้อคิดเห็นว่า
        ๓.๑ เครื่องบินขับไล่ J-20 ของจีน ซึ่งเป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ห้า (Fifth generation fighter) ที่รวมเอาเทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ หลายอย่างไว้ด้วยกัน เช่น ความเร็วเหนือเสียง ขีปนาวุธโจมตีจากอากาศสู่อากาศ และความสามารถในการอำพรางตัวหลบการตรวจจับของเรดาร์ ทำให้กองทัพอากาศจีนสามารถเทียบชั้นแสนยานุภาพในระดับเดียวกับกองทัพชาติตะวันตก
        ๓.๒ การที่จีนสามารถพัฒนาขีปนาวุธโจมตีระยะไกลจากอากาศสู่อากาศ ซึ่งใช้ทำลายเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ และเครื่องบินสั่งการบังคับบัญชาที่อยู่ในระยะปลอดภัยได้นั้น ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อกองทัพสหรัฐฯและชาติพันธมิตร ให้ต้องทบทวนทั้งกลยุทธ์และเทคนิคการรบ รวมทั้งทิศทางของโครงการพัฒนาทางทหารที่มีอยู่ด้วย

บทสรุป

แม้จะมีกระแสข่าวว่า จีนได้สั่งซื้อเครื่องบินรบแบบ SU-35 ของรัสเซีย จำนวน ๑๐ ลำในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ก็ตาม แต่ปัจจุบัน จีนได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตทางทหารที่มีความเข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลก ซึ่งนิตยสารรายสัปดาห์มิลิทรี อินดัสเตรียล เคาริเอร์ (Military-Industrial Courier) ที่ป็นสื่อสำคัญด้านการทหารของรัสเซีย ได้นำเสนอว่า ปริมาณการผลิตเครื่องรบของจีนใน ๑ ปีก็มากกว่าจำนวนรวมของ ๒๘ ประเทศของกลุ่ม NATO โดยมีการผลิตเครื่องบินรบรุ่น J-11B J-15 J-16 J-10 JF-17 เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น H-7 H-6M/K K-8 และ L-15 ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า เป้าหมายทางยุทธศาสตร์หลักของจีนซึ่งนำมาใช้ในการพัฒนาอาวุธใหม่ ๆ เหล่านี้ คือการมุ่งผลักดันอิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯ ให้ออกห่างจากดินแดนและน่านน้ำที่จีนถือว่าเป็นเขตอิทธิพลของตนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก อันเป็นแนวคิดทางยุทธศาสตร์ที่จะต่อต้านการเข้าถึงพื้นที่เฉพาะเพื่อไม่ให้สหรัฐฯ เข้าใกล้จีน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า A2AD หรือ Anti-access/Area Denial

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.globaltimes.cn/content/1126938.shtml 

http://thai.cri.cn/20181112/6aafc65e-cb49-decb-3ab5-72adc5a7bc8e.html 

http://thai.cri.cn/20181027/1ea4fa07-b2ae-5231-b523-3f2b25dc29bd.html 

https://www.bbc.com/thai/international-43054894 

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/591379

https://www.charleskochinstitute.org/blog/what-is-a2ad-and-why-does-it-matter-to-the-united-states/