bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ม.ค.๖๓ ผลสำเร็จจากการที่รัฐบาลจีนได้ประกาศ "แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาการค้าที่มีคุณภาพ"

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ม.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลสำเร็จจากการที่รัฐบาลจีนได้ประกาศ "แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาการค้าที่มีคุณภาพ" ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๔ ม.ค.๖๓ สำนักงานศุลกากรจีน ได้ประกาศตัวเลขสถิติระบุว่า มูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าของจีนปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) มีมากกว่า ๓๑.๕๔ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๔ เมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑)  โดยในจำนวนนี้ มูลค่าการส่งออกคิดเป็น ๑๗.๒๓ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ ส่วนมูลค่าการนำเข้าคิดเป็น ๑๔.๓๑ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๖ ขาดดุลการค้าจำนวน ๒.๙๒ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๔ นอกจากนี้ ในปี ๒๐๑๙ คู่ค้าสำคัญของจีนยังมีการเปลี่ยนแปลง โดยอาเซียนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ ๒ ของจีน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมของจีนและประเทศต่างๆ ตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึงเส้นทาง” (The Belt and Road Initiative: BRI)” มีมูลค่า ๖.๖๕ ล้านล้านหยวน (ประมาณ ๒๘.๖ ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น ๙.๕% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็น ๒๙% ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของจีนในช่วงเวลาเดียวกัน และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ๑.๘% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ที่เริ่มโครงการ BRI พบว่าเพิ่มขึ้น ๔%

๒. มีการวิเคราะห์ว่า มูลค่าการนำเข้าส่งออกสินค้าของจีนดังกล่าว ได้สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ภายใต้ภูมิหลังปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ที่อัตราเติบโตของการค้าทั่วโลกตกอยู่ในภาวะชะงักงัน เนื่องจากถูกกระทบกระเทือนจากลัทธิเอกภาคีนิยมและลัทธิกีดกันทางการค้า ทำให้การค้าต่างประเทศทั่วโลกถดถอยลง ในขณะที่การนำเข้าและส่งออกของจีนไม่เพียงแต่มีการเติบโตอย่างมั่นคงเท่านั้น หากแต่ยังมีคุณภาพที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดใน ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) มีการปรับปรุงโครงสร้างการนำเข้าและส่งออกของจีนให้ดีขึ้น (๒) จีนบุกเบิกตลาดนำเข้าส่งออกที่ได้ผลอย่างเห็นได้ชัด โดย “วงเพื่อน” ในตลาดสากลกว้างยิ่งขึ้น (๓) วิสาหกิจภาคเอกชนแสดงบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้น และ (๔) สินค้าส่งออกของจีนมีกำลังแข่งขันในตลาดสากลเข้มแข็งยิ่งขึ้น

๓. ข้อสังเกต การนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีนในปี ๒๐๑๙ สามารถรักษาการเติบโตและยกระดับคุณภาพ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ๔ ครั้งจนเหลือ ๓% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตการเงินของโลกเมื่อปี ๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนมีขีดความสามารถและความยืดหยุ่นพอสมควรในการป้องกันความเสี่ยง นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนได้พัฒนาไปอย่างมั่นคง โดยได้ปูพื้นฐานที่เข้มแข็งต่อการเติบโตของการค้าต่างประเทศ

บทสรุป

 
การพัฒนาทางการค้าที่มีคุณภาพสูงนั้น เป็นความต้องการที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ เพื่อปรับโครงสร้างการค้าให้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการค้า และเพิ่มความแข็งแกร่งทางการค้า โดยใช้ "แผนที่นำทาง" ซึ่งจะผลักดันให้จีนพัฒนาเป็นประเทศการค้าที่มีความเข้มแข็ง ดังนั้น การประกาศและดำเนินการตาม "แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาการค้าที่มีคุณภาพ"  ย่อมจะส่งเสริมให้การค้าและเศรษฐกิจจีนพัฒนาไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มกำลังทางบวกให้กับเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมากขึ้นในปัจจุบัน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์