bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เม.ย.๖๓ ท่าทีทางยุทธศาสตร์ของจีนจากถ้อยแถลงของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ต่อที่ประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) วาระพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๑๔

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เม.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีทางยุทธศาสตร์ของจีนจากถ้อยแถลงของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ต่อที่ประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) วาระพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๑๔ เม.ย.๖๓ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในช่วงต้นของถ้อยแถลง นายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวถึงสถานการณ์โดยภาพรวมว่า
     ๑.๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพและตอบสนองโดยรวม เพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติร่วมกันและการวางกลไกการเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉินในการต่อสู้กับโรคระบาด รวมทั้งการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
     ๑.๒ ในการต่อสู้กับโควิด-๑๙ ทำให้ตระหนักถึงชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน ประสานงานกันและมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น แบบเป็นหุ้นส่วนที่มีความเป็นปึกแผ่นและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางอยู่เสมอ และปฏิบัติตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการกำหนดเป้าหมายต่างๆ อย่างเปิดกว้างและโปร่งใส
     ๑.๓ ขอขอบคุณประชาชนชาวจีนทั้งประเทศที่ใช้ความพยายามอย่างหนัก ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการควบคุมการระบาดของโรค รวมทั้งการฟื้นฟูชีวิตและการทำงานให้กลับสู่ปกติอย่างรวดเร็ว ซึ่งจีนได้ใช้มาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียมจำนวนมาก เพื่อลดภาระขององค์กร ตลอดจนเพิ่มการเติบโตของการบริโภคและสนับสนุนอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ภายใต้การปฏิรูปและการเปิดกว้าง อีกทั้งดำเนินนโยบายการคลังและการเงิน โดยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

๒. นายกรัฐมนตรีจีน ได้เน้นย้ำข้อเสนอในการสนับสนุนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคว่า ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับโรคนี้ได้โดยลำพัง กล่าวคือ
     ๒.๑ ประการแรก อาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three: APT) จำเป็นต้องเพิ่มพูนความร่วมมืออย่างรอบด้านในการสร้างขีดความสามารถด้านสาธารณสุข เพื่อการปกป้องและรักษาชีวิตเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก โดยเฉพาะต้องปกป้องความปลอดภัยและสุขภาพของชาวต่างชาติเช่นเดียวกับที่ปกป้องพลเมืองของตนเอง ควรกระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพ ศุลกากร การขนส่งและการเข้าเมืองของประเทศสมาชิก โดยมีกลไกการประสานงาน เพื่อการสื่อสารที่ราบรื่น รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจากการผ่านเข้าออกดินแดน ตลอดจน ต้องแบ่งปันประสบการณ์การวินิจฉัยและการรักษา ข้อมูลการวิจัย และมีการวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนายาและวัคซีน มีการประสานงานในการผลิต การจัดหาเวชภัณฑ์และการอำนวยความสะดวกในการซื้อเวชภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ โดยจีนสนับสนุนอาเซียนในการจัดตั้งกองทุนโควิด-๑๙ และจะให้การสนับสนุนที่จำเป็นผ่านกองทุนความร่วมมืออาเซียน – จีน และกองทุนความร่วมมือของกลุ่มอาเซียนบวกสาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว นอกจากนี้ จีนขอแนะนำให้มีการจัดตั้งคลังสำรองเวชภัณฑ์ เพื่อให้มีความพร้อมในการตอบสนองอุปกรณ์ฉุกเฉิน และต้องดำเนินการฝึกซ้อมแผนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข อีกทั้งใช้ประโยชน์จากกองทุนความร่วมมือกลุ่มอาเซียนบวกสาม เพื่อดำเนินโครงการฝึกอบรมด้านสาธารณสุข โดยควรสนับสนุนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการประสานงานและทำงานร่วมกัน เพื่อปกป้องความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนในระดับภูมิภาคและระดับโลก
     ๒.๒ ประการที่สอง อาเซียนบวกสาม (APT) จำเป็นต้องฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจและบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้งกำจัดอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน โดยการเปิดตลาดเพื่อฟื้นฟูการเติบโตในเอเชียตะวันออกโดยเร็วที่สุด ด้วยมาตรการควบคุมที่จำเป็น ซึ่งควรพิจารณาเปิด "ช่องทางที่รวดเร็ว" สำหรับการพาณิชย์ การขนส่งและการบริการด้านเทคโนโลยี อันจะเอื้อต่อการไหลเวียนของผู้คนและสินค้าที่จำเป็น ที่จะทำให้อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานมีเสถียรภาพ โดยไม่กระทบต่อการควบคุมการระบาดของโรค นอกจากนี้ ต้องมีการวิจัยร่วมกันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างความเชื่อมโยง รวมทั้งควรพัฒนาความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพและการแพทย์ การผลิต บิ๊กดาต้า และ 5G เพื่อส่งเสริมการเติบโตใหม่ โดยต้องทำงานเพื่อนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในกรอบเวลาที่ตกลงกันและเร่งการเจรจา FTA ระดับไตรภาคีเพื่อเร่งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
     ๒.๓ ประการที่สาม อาเซียนบวกสาม (APT) ต้องกระชับการประสานงานเชิงนโยบายเพื่อป้องกันความเสี่ยงและความท้าทายทุกประเภทที่จะมาจากโควิด-๑๙ เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางของความมั่นคงสำหรับภูมิภาค โดยควรขยายการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าและการลงทุนในภูมิภาคและปรับปรุงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ตามความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMIM) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวกสาม (AMRO) เพื่อเพิ่มความพร้อมสำหรับวิกฤต และควรสนับสนุนธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และสถาบันการเงินพหุภาคีอื่น ๆ ในการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยจีนจะจัดสรรเงิน ๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในกองทุนลดความยากจนและความร่วมมือระดับภูมิภาคภายใต้ ADB เพื่อสนับสนุนโครงการควบคุมการระบาดในภูมิภาค นอกจากนี้ จีนยินดีรับข้อเสนอของ AIIB สำหรับการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ด้วยเงินทุนเริ่มต้นจำนวน ๕ พันล้านเหรียญสหรัฐ

บทสรุป
 
นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเน้นในช่วงท้ายของการแถลงว่า ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลก และเป็นที่ตั้งของประชากรกว่าหนึ่งในสี่ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น การสร้างความมั่นคงด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) เพื่อป้องกันวิกฤตด้านอาหาร นอกจากนี้ อาเซียนบวกสาม (APT) จะทำงานร่วมกันเป็นหุ้นส่วนด้วยความสามัคคี โดยจีนจะยืนเคียงข้างกับประชาชนในเอเชียตะวันออกและทั่วโลก เพื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากจากผลกระทบของโรคระบาด  โดยเชื่อมั่นว่า จะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคได้รับการฟื้นฟู อันจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของโลก

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์