bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ก.ย.๖๓ : ความคืบหน้าและผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการตามข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI กับโอกาสของประเทศไทย

ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าและผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการตามข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI กับโอกาสของประเทศไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ย.๖๓ คณะกรรมการปฏิรูปแห่งประเทศจีน ได้ประกาศว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานชี้นำการสร้าง "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (“一带一路” / “Belt and Road Initiative”) หรือ BRI ของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ที่ได้จัดการประชุมส่งเสริมงานสำคัญด้าน BRI ประจำปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ที่เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน โดยที่ประชุมได้สรุปความคืบหน้าและผลสำเร็จจากการสร้าง BRI พร้อมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์ภายในและระหว่างประเทศในปัจจุบันอย่างละเอียด  ตลอดจนศึกษาและจัดทำแผนการดำเนินงานในปีนี้และในอนาคต ซึ่งจนถึงปัจจุบัน จีนได้ลงนามในเอกสาร ๒๐๐ ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้าน BRI กับ ๑๓๘ ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอีก ๓๐ แห่ง (中国已与138个国家和30个国际组织签署了200份共建“一带一路”合作文件)

๒. จุดเริ่มต้นของ BRI จากหลักฐานในเอกสารปกขาวของรัฐบาลจีน เรื่อง “วิสัยทัศน์และปฏิบัติการ ว่าด้วยการร่วมสร้างแนวเขตเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑” (推动共建丝绸之路经济带和21世纪海上丝绸之路的愿景与行动 / Vision and Actions on Jointly Building Silk Road Economic Belt and 21st-Century Maritime Silk Road)  
     ๒.๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เกี่ยวกับแถบเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเล หรือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) ขณะที่ได้ไปเยือนประเทศคาซักสถาน เมื่อเดือนกันยายน ปี ๒๐๑๓ หรือ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยได้แถลงถึงการริเริ่มโครงการ “แถบเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหม” ที่ประกอบด้วยเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟ เพื่อเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลาง โดยมีระเบียงเศรษฐกิจ ๖ เส้นทาง ได้แก่ (๑) เส้นทางยูเรเซีย (Eurasia) จากตะวันตกของจีนถึงตะวันตกของรัสเซีย (๒) เส้นทางจีน-มองโกเลีย-รัสเซียตะวันออก (๓) เส้นทางตะวันตกจีน-เอเชียกลาง-ตุรกี (๔) เส้นทางจีน-แหลมอินโดจีน-สิงคโปร์ (๕) เส้นทาง จีน-ปากีสถาน (๖) เส้นทางจีน-พม่า-บังกลาเทศ-อินเดีย และขณะที่เดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน โดยได้กล่าวถึงโครงการ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ที่เชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยเริ่มจากเมืองชายฝั่งของจีน ผ่านสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งตลอดเส้นทางบกและเส้นทางทะเลจะมีการลงทุนปรับปรุงท่าเรือ และสร้างศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการค้าขึ้นมา
     ๒.๒ การดำเนินการต่อเส้นทางสายไหมดังกล่าว ที่ประกอบด้วย ๒ เส้นทาง คือ เส้นทางบก (the Silk Road Economic Belt) และเส้นทางทะเล (the Maritime silk road / route) ซึ่งรัฐบาลจีนได้ขับเคลื่อนผ่าน ๓ แผนงาน ได้แก่ แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศ แผนงานการจัดสรรแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยการจัดตั้งธนาคาร AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) รวมถึงกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund)  และแผนงานการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ยึดถือหลักการ ๓ ร่วม คือ ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์ และร่วมกันแบ่งปัน โดยเน้นให้ความสำคัญกับความร่วมมือต่อการดำเนินการใน ๕ เรื่อง อันได้แก่ (๑) การประสานงานด้านนโยบาย (๒) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อ (๓) การขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้า (๔) การเสริมสร้างความร่วมมือการควบคุมทางการเงินแบบบูรณาการ และ (๕) การสร้างความสัมพันธ์จากประชาชนสู่ประชาชน

๓ แนวโน้มในอนาคตของ BRI กับโอกาสของไทย จากการที่ BRI เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ที่กำลังพัฒนารูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการสร้างความร่วมมือเพื่อชัยชนะร่วมกันแบบ win-win ไปสู่การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๔ ส.ค.๖๑ ณ ทำเนียบรัฐบาล จึงได้มีการหารือร่วมกันในการพัฒนากลไกเพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบด้านระหว่างไทย-จีน โดยได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันทางการค้า ๑๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ.๒๕๖๔ และได้มอบให้ทั้งสองฝ่ายไปดำเนินการเพื่อยกระดับความสัมพันธ์การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ในการรองรับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (Eastern Economic Corridor : EEC) กับนโยบายข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) ของจีน ให้สามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้

บทสรุป

การที่ BRI มีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จดังกล่าวนั้น ได้สร้างโอกาสให้กับประเทศไทยโดยการเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ จากการยกระดับความร่วมมือระหว่างไทย-จีนใน ๗ ด้าน อันได้แก่ ด้านการค้า ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการเงิน ด้านการท่องเที่ยว และด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความเหมาะสมในการเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและกับจีน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมและโลจิสติกส์เข้าสู่ภาคตะวันตกของจีนที่มีมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เป็นศูนย์กลาง และการเชื่อมโยงจากภาคตะวันตกของจีนสู่อาเซียนและโลกภายนอก  

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://www.hebi.gov.cn/zghb/436364/436380/3404796/index.html 

http://www.china-cer.com.cn/guwen/202009148317.html 

http://www.mofcom.gov.cn/article/i/dxfw/jlyd/201601/20160101243342.shtml 

https://tech.sina.com.cn/roll/2020-09-14/doc-iivhvpwy6691830.shtml 

https://zhidao.baidu.com/question/2273265564773204388.html 

http://cn.tgcondo.com/news/china-thailand-infrastructure-cooperation 

https://new.qq.com/omn/20200722/20200722A0LH5A00.html 

http://thai.cri.cn/20200915/2a6a3d91-9e9b-252f-7d3f-71f258c99fd5.html