ความเคลื่อนไหวด้านการศึกษาของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๕ ต.ค.๖๑ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงการคลังของจีน ได้ร่วมกันประกาศรายงานผลการดำเนินงานตามงบประมาณการศึกษาปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) โดยระบุว่าในปีที่แล้ว งบประมาณด้านการศึกษาของจีนมีมูลค่า ๓,๔๒๐,๗๗๕ ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๙๕ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคิดเป็นร้อยละ ๔.๑๔ ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดในประเทศ หรือ GDP โดยนับเป็นปีที่ ๖ ที่เกินร้อยละ ๔ ของ GDP
๒. ในขณะที่เมื่อวันที่ ๒๖ ก.ย.๖๑ Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกได้ประกาศรายชื่อจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ตามเกณฑ์มาตรฐาน ๑๓ ด้าน เช่น การศึกษา การวิจัย และทัศนวิสัยเป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยที่ได้เป็น ๓ อันดับแรกของโลก ได้แก่ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่วนมหาวิทยาลัยชิงหวาของจีนอยู่อันดับที่ ๒๒ ถือเป็นอันดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยในเอเชีย
๓. ข้อสังเกต
๓.๑ ปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยชนเผ่ากว่างซี เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนมากกว่า ๑๖,๐๐๐ คน โดยในจำนวนนี้ เป็นนักศึกษาที่มาจากประเทศในกลุ่มอาเซียนถึง ๙๐% ทั้งนี้เพราะ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ่วง ถือเป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีการเชื่อมต่อกับอาเซียนทั้งทางบกและทางน้ำ และมีกระแสวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับประเทศอาเซียนบางประเทศ รวมทั้งได้รับความนิยมจากนักศึกษาในกลุ่มอาเซียนที่ไปเรียนต่อในจีน และกลายเป็นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรจีน – อาเซียนที่สำคัญ
๓.๒ นอกจากเส้นทางบกและเส้นทางน้ำที่เชื่อมเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับอาเซียนแล้ว เมื่อวันที่ ๑๙ ก.ค.๖๑ ได้มีการเพิ่มเส้นทางบินจากเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงไปยังจุดหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนถึง ๑๘ เมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาในการคมนาคมติดต่อโดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศที่มู่งสู่อาเซียน เสมือนได้สร้างสะพานทางอากาศที่สะดวกและมีประสิทธิภาพสูงในการกระชับการแลกเปลี่ยนทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับประเทศในอาเซียน
บทสรุป
การพัฒนาเส้นทางคมนาคมที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ย่อมมีผลต่อการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา โดยพบว่า เมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่อยู่ใกล้ที่สุดกับอาเซียนได้มีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและการกีฬากับประเทศในอาเซียนบ่อยครั้งมากขึ้น ทั้งนี้ เมืองหนานหนิงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้มุ่งมั่นพัฒนาขึ้นเป็นประตูเชื่อมโยงของจีนสู่อาเซียน และได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียน เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย.๖๑ โดยที่ประชุมได้ประกาศเริ่มใช้งานคลังข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมจีน-อาเซียนอย่างเป็นทางการ ต่อไปในอนาคต จีนและอาเซียนจะดำเนินความร่วมมือโดยการประยุกต์ใช้ Big Data ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง ผลักดันการสร้างนวัตกรรมการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันต่อไป
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.chinadaily.com.cn/a/201810/16/WS5bc55116a310eff3032829d8.html
http://thai.cri.cn/247/2018/10/16/101s272440.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/09/27/121s271611.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/10/15/232s272349.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/07/20/62s269210.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/05/23/62s267360.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/09/12/62s271086.htm
http://chinaplus.cri.cn/news/china/9/20181015/196097.html