bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ก.พ.๖๓ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ก.พ.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจจีนหรือวิสาหกิจต่างชาติ ล้วนจะเข้าร่วมโครงการความร่วมมือด้วยความเปิดเผยและมีความโปร่งใส ตามกฎเกณฑ์ของตลาดและหลักการที่เป็นธรรม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สืบเนื่องมาจากมีรายงานข่าวว่า บริษัทเหล็กและเหล็กกล้าบางรายของสหรัฐฯ กล่าวตำหนิจีนว่าให้เงินอุดหนุนและใช้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ช่วยให้บริษัทจีนมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรม ดังนั้น นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จึงได้กล่าวชี้แจงในที่ประชุมแถลงข่าว เมื่อวันที่ ๑๘ ก.พ.๖๓ ว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) เป็นข้อริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเป็นโครงการสาธารณะระหว่างประเทศ โดยยึดถือหลักการ ๓ ร่วม ได้แก่ การร่วมหารือ การร่วมสร้างสรรค์ และการร่วมแบ่งปัน รวมถึงแนวคิดการสร้างความร่วมมือแบบเปิดเสรี และมีความโปร่งใสในการประมูลโครงการต่างๆ

๒. กรอบแนวคิดข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI มีที่มาจากเอกสารเรื่อง “วิสัยทัศน์และปฏิบัติการ ว่าด้วยการร่วมสร้างแนวเขตเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑" ซึ่งรัฐบาลจีนได้จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อเผยแพร่แนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวคือ
     ๒.๑ เป้าหมายของ BRI จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองรวมทั้งความสงบสุขและมิตรภาพ อันจะสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ด้วยการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนอย่างรอบด้าน ผ่านทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา โดย (๑) การเชื่อมโยงเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปเข้าด้วยกัน เพื่อให้ภูมิภาคเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนและสร้างประโยชน์ร่วมกัน ในการสร้างห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่ธุรกิจ ห่วงโซ่คุณค่าและการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ ให้มีช่องทางการขนส่งคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง อันจะยังประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลและพื้นที่ทุรกันดาร อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการค้าการลงทุนและขจัดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ (๒) การยึดถือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานและเป็นแกนหลัก พร้อมทั้งยึดถือการแลกเปลี่ยนบุคคลและวัฒนธรรมเป็นตัวหนุนที่สำคัญ ด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในระดับประชาชนตามเส้นทาง และเน้นการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
     ๒.๒ ขอบเขตของความร่วมมือ ประกอบด้วย (๑) การประสานงานด้านนโยบาย (๒) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในการเชื่อมต่อ (๓) การขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้า (๔) การเสริมสร้างความร่วมมือในการควบคุมทางการเงินแบบบูรณาการ (๕) การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชนสู่ประชาชน
     ๒.๓ รูปแบบของความร่วมมือ โดยเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ผ่านกลไกที่มีอยู่เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) อาเซียนกับจีน (๑๐+๑) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) และการประชุมเอเชียกับยุโรป (ASEM หรือ อาเซม ) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของฟอรั่มระหว่างประเทศและการจัดนิทรรศการในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น Boao ฟอรั่ม เป็นต้น

๓. ผลที่คาดว่าจะได้รับจาก BRI ในการเชื่อมโยงเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง แอฟริกาเหนือ และยุโรปเข้าด้วยกันนั้น จะทำให้จีนสามารถเปิดประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่างๆ ที่มีประชากรรวมกันประมาณ ๔,๔๐๐ ล้านคน (คิดเป็น ๖๓% ของโลก) และมีปริมาณรวมของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ ๒๑ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็น ๒๙% ของโลก) อันประกอบด้วย
     ๓.๑ การเชื่อมโยงทางบก (Silk Road Economic Belt) เป็นการเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเส้นทางสายไหมเดิม ด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ๖ ระเบียง (6 Economic Corridors) ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจยูเรเซียใหม่ (New Eurasian Land Bridge), จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย, จีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก, จีน-คาบสมุทรอินโดจีน, จีน-บังกลาเทศ-เมียนมา และจีน-ปากีสถาน  
     ๓.๒ การเชื่อมโยงทางทะเล (Maritime Silk Road/Route) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงด้านการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ได้แก่ อาเซียน โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ระเบียงเศรษฐกิจจีน-บังคลาเทศ-เมียนมา และระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน เป็นต้น

บทสรุป

 
ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกของจีนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตลอดจนสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการเข้าถึงทรัพยากร โดยการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างประเทศและเส้นทางออกสู่ทะเล ภายใต้ ๓ แผนงานใหญ่ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ การจัดสรรแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอาเซียน และสามารถเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคส่วนอื่นๆ จึงควรแสวงประโยชน์จากข้อริเริ่มดังกล่าว ในการผลักดันนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์ 
 
 
 
 
และข้อมูลจากหนังสือของ ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พลตรี ดร. (๒๕๖๑). ยุทธศาสตร์จีนบนเวทีโลก เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์.)