bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิ.ย.๖๒ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน และกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน
        ๑.๑ จีนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มอาเซียนว่า การจัดตั้งเป็นเขตการค้าเสรีของประเทศกลุ่มอาเซียนในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จะสามารถสนับสนุนให้จีนบรรลุเป้าหมายในทางเศรษฐกิจได้ โดยในระยะเริ่มแรกจีนได้เข้ามาเจรจาเพื่อการแลกเปลี่ยนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกลุ่มอาเซียน
        ๑.๒ จีนจึงได้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ (ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น ๒๖ ประเทศ กับอีกหนึ่งกลุ่มประเทศ คือ สมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ประเทศคู่เจรจา ๙ ประเทศกับ ๑ กลุ่มประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้สังเกตการณ์พิเศษ ๑ ประเทศ คือ ปาปัวนิกินี และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอีกจำนวน ๖ ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน ศรีลังกา และ ติมอร์-เลสเต เพื่อเป็นเวทีในการเสริมสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จีนก็ได้รับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาอย่างเป็นทางการของอาเซียน (full dialogue partner)

๒. กรอบแนวคิดในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน ภายใต้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของกำลังอำนาจ
        ๒.๑ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และมีการติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีแบบแผนและประเพณีในการติดต่อสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ (tributary system) ที่แสดงถึงการยอมรับในอำนาจของจักรพรรดิจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ของการค้า และจักรพรรดิจีนก็จะตอบแทนชาติที่มาถวายเครื่องบรรณาการด้วยของกำนัลที่มีมูลค่าสูงมากกว่าเครื่องบรรณาการนั้น เพื่อแสดงถึงการมีสถานะที่เป็นคุณและความมีน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ของจีน ทำให้จีนมีความพึงพอใจต่อการยอมรับในอำนาจแบบดังกล่าวมากกว่าที่จะเข้ามาครอบงำหรือยึดครองดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันมีความแตกต่างไปจากการแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก
        ๒.๒ อดีตศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยมิชิแกนชื่อ ออแกนสกี้ (A.F.K. Organski) ได้นำเสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของกำลังอำนาจ (power transition theory) ไว้ในหนังสือเรื่องการเมืองโลก (World Politics) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ.๒๕๐๑) มีเนื้อหาเกี่ยวกับกำลังอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและวงจรตามธรรมชาติของสงคราม โดยจัดระดับความสัมพันธ์ของกำลังอำนาจระหว่างรัฐต่าง ๆ ในการเมืองระหว่างประเทศเป็น ๔ ประเภท ได้แก่
                รัฐที่มีกำลังอำนาจครอบงำ (dominant state)
                รัฐที่มีกำลังอำนาจขนาดใหญ่ (great powers)
                รัฐที่มีกำลังอำนาจขนาดกลาง (middle powers)
                รัฐที่มีกำลังอำนาจขนาดเล็ก (small powers)
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึง ปรากฏการณ์ของสงครามอันเกิดจากการที่มหาอำนาจเก่าต้องการรักษาความเป็นมหาอำนาจไว้โดยการทำลายมหาอำนาจใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมามีอำนาจ
        ๒.๓ แม้ว่าทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของกำลังอำนาจของออแกนสกี้จะนำเสนอมากว่า ๔๐ ปี แล้วก็ตามแต่ก็มีความสอดคล้องกับแนวคิดของ จาง หยุนหลิง (Zhang Yunling) และ ถัง ซื่อผิง (Tang Shiping) ที่ได้วิเคราะห์บทบาทการผงาดขึ้นมามีอำนาจอย่างสันติของจีนในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของกำลังอำนาจระหว่างประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ สรุปได้ดังนี้
               ๒.๓.๑ จีนมุ่งคืนสู่ความยิ่งใหญ่ดังในอดีตด้วยการเป็นมหาอำนาจจากขนาดของประเทศ จำนวนประชากรและความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่จีนระลึกอยู่เสมอว่าสหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจที่จีนต้องมีความร่วมมือในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ จีนจะเพิ่มความแข็งแกร่งของประเทศรวมทั้งความเข้มแข็งทางการทหารเพื่อรักษาสถานภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
               ๒.๓.๒ จีนต้องการดำรงความมีเสถียรภาพอันเป็นผลจากนโยบายสี่ทันสมัยในยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิงและรักษาสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศให้มีความสงบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านของจีน
               ๒.๓.๓ จีนเน้นการเป็นประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและควบคุมพฤติกรรมของตนเองที่จะไม่มุ่งแสวงหาการเป็นผู้นำในกิจการระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกโดยดำเนินกิจกรรมผ่านองค์กร สถาบันและกลไกต่าง ๆ แบบพหุภาคี (multilateral institutions) เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจรวมทั้งร่วมปรึกษาหารือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures: CBMs) ในการบริหารจัดการด้านความมั่นคงบนพื้นฐานของแนวคิดความมั่นคงใหม่ (new security concept) ที่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น การเห็นประโยชน์ร่วมกัน มีความเสมอภาคกันและมีความร่วมมือกัน
               ๒.๓.๔ จีนเน้นการดำเนินการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของความมั่นคงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของโลก โดยดำเนินนโยบายอย่างอิสระและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รวมทั้งยึดถือกรอบปฏิบัติของสหประชาชาติและจะต่อต้านการแทรกแซงกิจการระหว่างประเทศ

บทสรุป
อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อจีนในการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นพื้นที่ของการช่วงชิงอำนาจอิทธิพลกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ เพื่อการรักษาสถานะเดิมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนอาเซียนเองก็เห็นประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนและเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือกับจีน ส่วนพัฒนาการของกลไกของความร่วมมือและแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างจีน - อาเซียนในอนาคต จะได้นำเสนอต่อไปในวันพรุ่งนี้

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจาก
Tammen, Ronald L., Kugler, Jacek ,…,Organski, A.F.K.(ed.) (2000). Power Transitions : Strategies for the 21st Century. New York : Seven Bridges Press.
Yunling, Zhang and Shiping, Tang. (2005). “China Regional Strategy” in Shambaugh, David. (ed). Power Shift : China and Asia’s New Dynamics. California: University of California Press.,pp.48-68.
ข้อมูลจากเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “อนาคตของความสัมพันธ์จีน-อาเซียน” เมื่อวันพุธที่ ๘ ก.ย.๕๓ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ.