bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พ.ค.๖๓ แนวทางความคิดเห็นของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคตะวันตก (ของจีน)

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พ.ค.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางความคิดเห็นของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคตะวันตก (ของจีน) ในยุคใหม่และการจัดตั้งรูปแบบใหม่ ภายใต้มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในสถานการณ์ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ของลัทธิสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีนในยุคใหม่ ได้แก่
    ๑.๑ การใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ โดยมียุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท เพื่อบรรเทาความยากจนอย่างทั่วถึง และสร้างสังคมที่มีความเป็นอยู่ที่ดีในทุกด้าน ด้วยการแก้ปัญหาพื้นที่ยากจนและกลุ่มคนยากจน ให้สามารถขจัดความยากจนและป้องกันไม่ให้คนที่หลุดพ้นความยากจนกลับไปสู่ความยากจนอี
     ๑.๒ เสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือแบบเปิด บนพื้นฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการบูรณาการการผลิต การศึกษาและการวิจัย โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกประเภทสร้างบริษัทนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี การจัดตั้งกองทุนย่อยร่วมทุน และการส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
     ๑.๓ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในอุตสาหกรรมดั้งเดิม ผนวกเข้ากับอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ โดยการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ต การยกระดับของห่วงโซ่อุตสาหกรรม รวมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางนิเวศวิทยา ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศในการเปิดทรัพยากรการท่องเที่ยว และการให้บริการโลจิสติกที่ทันสมัย
     ๑.๔ การปรับโครงสร้างอุปทานและอุปสงค์พลังงานให้เหมาะสม โดยส่งเสริมการผลิตถ่านหินที่สะอาดและการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน การวางโครงข่ายท่อส่งน้ำมัน การสร้างระบบสำรองก๊าซธรรมชาติหลายระดับและเร่งการจัดตั้งคลังเก็บก๊าซใต้ดินในพื้นที่ที่เหมาะสมตามข้อกำหนดของการปกป้องสิ่งแวดล้อม
     ๑.๕ ส่งเสริมการบูรณาการของการพัฒนาเมืองและชนบทอย่างจริงจัง และส่งเสริมการขยายโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในเมืองไปยังพื้นที่ชนบทโดยรอบ
     ๑.๖ เสริมสร้างการวางแผนและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมด้านการขนส่ง การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ รวมทั้งมีการบูรณาการแหล่งน้ำในเมืองและชนบท
     ๑.๗ ดำเนินการรักษาความมั่นคงของชาติและความมั่นคงทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์
     ๑.๘ มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”(Belt and Road Initiative : BRI) อาทิ การสนับสนุนเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของจีน ในการสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม และการสร้างศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง วัฒนธรรม และการรักษาพยาบาล โดยการยกระดับความร่วมมือและการเปิดกว้างของมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) กับอนุภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เป็นต้น
      ๑.๙ การยืนหยัดในแนวคิด “ภูเขาเขียวน้ำใสเป็นภูเขาทองและภูเขาเงิน”ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระหว่างการพัฒนา โดยเฉพาะทรัพยากรทางระบบนิเวศทางแม่น้ำฉางเจียง แม่น้ำหวงเหอ และการป้องกันมลพิษทางอากาศ รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพดิน เป็นต้น

๒. สถานการณ์ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ของลัทธิสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีน ได้แก่  
     ๒.๑ การตระหนักถึงแนวทางของการสร้างสังคมนิยมแบบมีอัตลักษณ์จีนในยุคใหม่ ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ ๑๙ ให้มีการประสานงานรูปแบบโดยรวมของการพัฒนาห้าด้านให้เป็นหนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม และระบบนิเวศ ตามแนวคิดการพัฒนาใหม่ภายใต้หลักการพื้นฐานสี่ประการ ได้แก่ การยืนหยัดในแนวทางสังคมนิยม การยืนหยัดในการปกครองประชาชนแบบเผด็จการประชาธิปไตย การยืนหยัดในความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการยืนหยัดในลัทธิมาร์กซ์-เลนินกับแนวคิดเหมา เจ๋อตง อันเป็นรากฐานในการสถาปนาประเทศ
     ๒.๒ การปฏิรูปที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพื้นที่สำคัญ และส่งเสริมการดำเนินการตามมาตรการปฏิรูปที่สำคัญอย่างมั่นคง โดยการยืนยันให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และทำให้ประชาชนได้รับความสุขและความปลอดภัย

บทสรุป
 
อาจกล่าวได้ว่า "แนวทางความคิดเห็นของคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกในยุคใหม่และการจัดตั้งรูปแบบใหม่" (中共中央 国务院 关于新时代推进西部大开发形成新格局的指导意见 Guiding Opinions of the Central Committee of the Communist Party of China and the State Council on Promoting the Development of the Western Region in the New Era and Forming a New Pattern) โดยเน้นการต่อสู้กับความเสี่ยง ความยากจน และมลพิษ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่า ภูมิภาคตะวันตกของจีน (中国西部地区western region of China) ซึ่งยังมีช่องว่างระหว่างการพัฒนากับภูมิภาคตะวันออกของจีน จะได้รับการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ประชาชนในภาคตะวันตกของจีนจะมีฐานะพอกินพอใช้ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) และมีการพัฒนาที่เทียบเท่ากับภาคตะวันออกของจีนภายในปี ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๗๘) รวมทั้งมีส่วนร่วมในการริเริ่มและเร่งการเปิดสู่โลกภายนอกภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI    

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์