มาตรการตอบโต้ของจีนต่อการกระทำของสหรัฐฯ ในการประกาศรายชื่อสินค้าของจีนที่จะต้องถูกเรียกเก็บภาษี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สำนักข่าวซินหวารายงานว่า โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ได้ประกาศแถลงการณ์เมื่อวันที่ ๑๘ มิ.ย.๖๑ หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศรายชื่อสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษี ๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีท่าทีจะลุกลามไปถึง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนเห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่สร้างแรงกดดันและข่มขู่ ถือเป็นการฝ่าฝืนความเข้าใจร่วมกัน ที่ได้พูดคุยและตกลงกันหลายครั้งระหว่างทั้งสองฝ่าย ทำให้จีนรู้สึกผิดหวัง ในการที่สหรัฐฯ ขาดหลักการและเหตุผล ดังนั้น จีนจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าว
๒. เหตุผลที่จีนเห็นว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อท่าทีของสหรัฐฯ
๒.๑ สหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มให้เกิดการต่อสู้ด้านการค้า ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ตลาด ไม่สอดคล้องกับกระแสพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ทำลายผลประโยชน์ของประชาชนและวิสาหกิจของทั้งสองประเทศ ทำลายผลประโยชน์ของประชาชนทั่วโลก
๒.๒ การตอบโต้ของจีนไม่เพียงแต่เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศจีนเท่านั้น หากยังเพื่อรักษาและปกป้องระบบการค้าเสรี รักษาและปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติอีกด้วย ไม่ว่าบรรยากาศภายนอกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จีนจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ยืนหยัดการถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยืนหยัดผลักการปฏิรูปและเปิดประเทศสู่ภายนอก ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยคุณภาพ เร่งการพัฒนาระบบเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน
๓. มาตรการตอบโต้ของจีน
๓.๑ เมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.๖๑ จีนได้ออกมาตอบโต้โดยการประกาศมาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้า (import tariff) จากสหรัฐฯ ในมูลค่าและอัตราเดียวกันกับที่สหรัฐฯ เรียกเก็บที่ ๒๕% และจะเริ่มบังคับใช้ในวันเดียวกันกับที่สหรัฐฯ คือวันที่ ๖ ก.ค.๖๑ โดยระยะแรกจะเก็บภาษีจากจีน มูลค่า ๓.๔ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน ๕๔๕ รายการ และในระยะที่สองจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม หากสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าขึ้นภาษีต่ออีก เป็นมูลค่า ๑.๖ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกจำนวน ๑๑๔ รายการ รวมจำนวนสินค้าทั้งสิ้น ๖๕๙ รายการ ที่มูลค่า ๕ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
๓.๒ สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หมวดสำคัญที่จะถูกเก็บภาษีจากจีนในชุดแรก ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช เนื้อวัว เนื้อหมู อาหารทะเล และหมวดยานยนต์ เช่น รถยนต์ออฟโรด (off-road vehicle) รถไฟฟ้า (electric vehicle) เป็นต้น สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในระยะที่สอง ที่จีนวางแผนขึ้นภาษีจะเน้นที่หมวดพลังงาน เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ แก๊สโซลีน เป็นต้น
๔. ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
๔.๑ ผลจากการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีน โดยเฉพาะกรณีที่เป็นสินค้าซึ่งสหรัฐฯ ไม่สามารถหาตลาดนำเข้าใหม่ทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีนได้ทันทีหรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มจากการเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้าและการผลิต (supplier and production network) ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจและสภาวะการจับจ่ายและกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ กรณีที่ราคาสินค้าถูกปรับเพิ่ม ซึ่งอาจบั่นทอนการบริโภคภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป
๔.๒ เศรษฐกิจจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตโดยเน้นการบริโภคจากภายใน หากภาวะสงครามการค้าทำให้สินค้านำเข้าหลายๆ อย่างมีราคาแพงขึ้นและจีนไม่สามารถหาสินค้าทดแทนได้ทันที ย่อมส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและผู้บริโภคจีนได้เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ
บทสรุป
ภาวะความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ จะถูกบั่นทอนศักยภาพลงจากเรื่องการค้า อันจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตของการค้าโลก ซึ่งหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและหากเป็นระยะเวลานานจนมีผลต่อต้นทุนการผลิต ก็อาจทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตหรือนำเข้า โดยอาจผลิตในประเทศมากขึ้นและทำให้มูลค่าการค้าสินค้าขั้นกลางของโลกลดลง แต่สำหรับประเทศไทย ได้มีการวิเคราะห์กันว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าไทยจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีนในสินค้าหลายรายการก็ตาม เนื่องจากสินค้าที่จะได้รับผลกระทบก็ยังมีสัดส่วนมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับการส่งออกโดยรวมทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่อยู่ในนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเน้นไปที่สินค้าไฮเทค นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยก็ยังมีการกระจายสินค้าไปยังตลาดส่งออกอื่นๆ
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/247/2018/06/19/121s268133.htm
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805202