bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ส.ค.๖๒ จีนใช้ระบบอุทยานแห่งชาติเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและธรรมชาติ

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๙ ส.ค.๖๒ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ส่งสารแสดงความยินดี ต่อการประชุมอุทยานแห่งชาติครั้งแรกของจีนที่จัดขึ้นที่เมืองซีหนิง เมืองเอกของมณฑลชิงไห่ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของจีน โดยมีสำนักงานการป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีนและรัฐบาลมณฑลชิงไห่ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมฯ และมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งผู้แทนแวดวงต่าง ๆ จำนวนกว่า ๔๕๐ คน ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมฯ ในครั้งนี้ สำหรับข้อความสำคัญในสารแสดงความยินดีดังกล่าวระบุว่า การสร้างสรรค์อารยธรรมระบบนิเวศ มีความหมายสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอารยธรรมของมนุษยชาติ การที่จีนใช้ระบบอุทยานแห่งชาติก็เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและธรรมชาติ การอนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต การอนุรักษ์ความปลอดภัยของระบบนิเวศ และคงไว้ซึ่งสมบัติธรรมชาติอันล้ำค่าให้ตกทอดสู่ลูกหลานต่อไป

๒. อุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย (三江源หรือ ซานเจียงหยวน) ตั้งอยู่ในมณฑลชิงไห่ แถบตะวันตกของจีน มีพื้นที่ ๓๙๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร (เฉพาะอุทยานมีพื้นที่ ๑๕๒,๓๐๐ ตารางกิโลเมตร โดยในเขตอุทยานมี ๑๒ หมู่บ้าน ประชากร ๖๖,๔๐๐ คนอาศัยอยู่ เฉลี่ยคนละ ๒ ตารางกิโลเมตร) และถือเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำที่สำคัญของจีน ๓ สายคือ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำหลานชางหรือแม่น้ำโขง พื้นที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น “แทงค์น้ำของประเทศจีน”เนื่องจากเป็นต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงคนจีนในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำกว่า ๗๐๐ ล้านคน และจากความสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ ทำให้รัฐบาลกลางของจีนมีการตั้งกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสายขึ้นมาในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) เพื่อทำหน้าที่ในการดูแล อนุรักษ์ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และการดูแลประชาชนที่อาศัยในบริเวณอุทยาน รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่สั่งการมาโดยตรงจากรัฐบาลกลางโดยตรง โดยกรมกำกับดูแลอุทยานฯ เป็นหน่วยงานกลางที่คอยกำกับดูแลหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลอนุรักษ์ป่าไม้อีกต่อหนึ่ง

๓. ผลสำเร็จในการจัดตั้งกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย
        ๓.๑ ก่อนหน้านี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลป่า ไม่ว่าจะเป็นส่วนการพัฒนาป่าไม้ ส่วนที่ตัดไม้ไปทำประโยชน์ กรมที่ดิน ส่วนงานด้านการเกษตร การปศุสัตว์ จะแยกหน่วยงานกันดูแล ทำให้การทำงานหลายอย่างประสบปัญหาคือหน่วยงานไม่ได้เห็นภาพเดียวกัน แต่เมื่อมีกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย เข้ามาดูแลแล้ว ก็กลายเป็นผู้กำกับดูแลอีกทีให้ทุก ๆ หน่วยงาน ต้องดำเนินงานมุ่งไปในทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหมด จึงเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีมากต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่
        ๓.๒ ทำให้สามารถกำกับดูแลทั้งป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และอุทยานแห่งชาติย่อยที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่น้ำสามสาย รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ภายในอุทยาน ทำให้กรมกำกับดูแลอุทยานฯ มีอำนาจการทำงานค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ตามพระราชบัญญัติกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายในภาพรวมก็ยังคงขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลกลางเป็นหลัก โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารการกำกับดูแลอุทยาน ทำให้การประเมินผลงานด้านการอนุรักษ์ของพื้นที่แห่งนี้ได้ผลค่อนข้างดี คือ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นปีละ ๖% และน้ำมีคุณภาพสูงขึ้น มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น (เพิ่ม ๑๑% เมื่อเทียบกับ ๑๐ ปีก่อน) มีความหลากหลายของพืชพันธุ์และจำนวนสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น (มีสัตว์ที่เห็นกว่า ๑.๘ แสนตัว ประมาณ ๗ หมื่นตัวเป็นเลียงผาพันธุ์ธิเบต จามรีป่า ๑.๗ หมื่นตัว กวางและวัวป่า ๑ หมื่นตัว) และประการสำคัญคือประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยาน มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น (โดยเฉพาะกรมฯ ให้เงินอุดหนุน ๑,๘๐๐ หยวน/ครอบครัว/เดือน เหมือนจ้างดูแลอุทยาน)
        ๓.๓ แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการดูแลประชาชนของกรมกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติต้นแม่น้ำสามสาย รวมทั้งการมีความร่วมมือกับสถาบันด้านการวิจัย กลุ่ม NGOs แหล่งทุน รวมถึงอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการร่วมมือกับสื่อในประเทศจีนในการร่วมกันถ่ายทำสารคดีเพื่อเผยแพร่ความรู้ของอุทยานฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ด้วย ทำให้พื้นที่อุทยานได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกด้านธรรมชาติของ UNESCO และยังเป็นมรดกด้านธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอีกด้วย

บทสรุป
มณฑลชิงไห่ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูลชิงไห่-ทิเบต เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโลก และเป็นหนึ่งในมณฑลแรก ๆ ของจีนที่ดำเนินการนำร่องอุทยานแห่งชาติ โดยรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและระบบการบริหารจัดการแบบครบวงจรภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน และการปรับปรุงการจัดการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งการดูแลประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้เข้าร่วมในการฝึกอบรมและแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุรักษ์อุทยาน ตลอดจนการสนับสนุนในการจัดตั้งสหกรณ์และส่งเสริมความรู้ด้านการประกอบอาชีพในพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยว การเปิดร้านอาหารและการเปิดที่พักแบบโฮมสเตย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับการดูแลพื้นที่ให้มีมาตรฐานระดับโลก โดยเฉพาะการร่วมมือกับสื่อทุกแขนงในการประชาสัมพันธ์อุทยานแห่งชาติ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
http://www.ecns.cn/news/2019-08-20/detail-ifznccet2924755.shtml

http://thai.cri.cn/20190820/ddef9593-6391-cbca-3df4-35da31a815cf.html

http://www.tcjapress.com/2019/08/03/qinghai-cipg/

https://www.the101.world/three-river-source-national-park-case-study/

https://news.thaipbs.or.th/content/282466

http://www.chinadaily.com.cn/a/201907/09/WS5d23fea9a3105895c2e7c788.html