ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ร่วมพิธีเปิดให้บริการสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าอย่างเป็นทางการที่เมืองจูไห่ เมื่อวันที่ ๒๓ ต.ค.๖๑ และประกาศเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ โดยสะพานแห่งนี้ใช้เวลาสร้าง ๑๕ ปี และมีระยะทาง ๕๕ กิโลเมตร ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การเปิดสะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า เป็นสัญญาณความสำเร็จในความร่วมมือระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเขตบริหารพิเศษ ได้แก่ ฮ่องกง และมาเก๊า อีกทั้งเป็นการพิชิตความท้าทายด้านความสามารถทางวิศวกรรม กล่าวคือ
๑.๑ สะพานดังกล่าวนี้ เป็นโครงการคมนาคมข้ามทะเลโครงการแรกที่เป็นความร่วมมือระหว่างมณฑลกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า นับเป็นสะพานที่มีความยาว และใช้เทคนิคในการสร้างยากที่สุดของโลกภายใต้กรอบหนึ่งประเทศสองระบบ โดยมีทั้งส่วนที่เป็นสะพานข้ามทะเล ๓๐ กิโลเมตร เชื่อมไปยังเกาะเทียม ทอดลงสู่อุโมงค์ใต้ทะเลความยาว ๖.๗ กิโลเมตร จากนั้นขึ้นไปที่เกาะเทียมอีกเกาะ ก่อนแล่นไปบนสะพานข้ามทะเลสู่ฝั่งฮ่องกง
๑.๒ สะพานแห่งนี้ยังเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมที่สำคัญที่สุดในเขตมณฑลกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า หลังเปิดให้บริการ สะพานแห่งนี้จะลดระยะเวลาเดินทางจากฮ่องกงถึงเมืองจูไห่และมาเก๊าจาก ๓ ชั่วโมง เหลือเพียง ๓๐ - ๔๕ นาที นับเป็นการผลักดันการพัฒนาเขตมณฑลกว่างตง ฮ่องกงและมาเก๊าเข้าสู่ "ทางด่วน" และ "วงจรชีวิต ๑ ชั่วโมง" ของการเดินทางภายในเขตนี้ ดั่งเช่นคำพูดของนายเม่ง ฝันชาว หัวหน้านักออกแบบสะพานที่ระบุว่า สะพานแห่งนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการคมนาคมของเขตมณฑลกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า โดยจะนำร่องให้ผู้คนมีวิถีการใช้ชีวิตใหม่ สร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจกว่าหลายสิบล้านล้านหยวน
๑.๓ ตลอดเส้นทางได้ติดตั้งกล้องอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับการหาวสัปหงกของผู้ขับขี่ได้ ซึ่งถ้าเมื่อใดพบว่าผู้ขับขี่มีอาการหาวมากกว่า ๓ ครั้งใน ๒๐ วินาที กล้องอัจฉริยะจะส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่บนสะพานทันที
๒. ก่อนพิธีเปิดการเดินรถ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวเน้นขณะดูงานในเขตเหิงฉิน เมืองจูไห่ว่า อุตสาหกรรมการผลิตเป็นสิ่งสำคัญของเศรษฐกิจ ส่วนแกนหลักของอุตสาหกรรมการผลิตก็คือนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องคิดค้นเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ ต่อสู้โดยพึ่งพาตัวเอง และพึ่งพานวัตกรรมใหม่ของตนเอง
๓. ข้อสังเกต สะพานเชื่อมฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าแห่งนี้ ได้ช่วยเสริมกับศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงฮ่องกงที่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งจัดเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ในการเชื่อมฮ่องกงและมาเก๊ากับ ๑๑ เมืองของจีน เพื่อสร้างเขตพัฒนาใหม่ให้เป็นภูมิภาคไฮเทค ช่วยการพัฒนา “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นกรอบการปกครองฮ่องกง และมาเก๊า ที่ให้อำนาจการปกครองตัวเองระดับหนึ่ง ดังนั้น การก่อสร้างสะพานฯ ถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกของสามดินแดนในเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเปิดการแลกเปลี่ยนมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสามดินแดน อีกทั้งส่งเสริมแรงแข่งขันของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) ให้เพิ่มสูงขึ้น
บทสรุป
นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขากว่างตง (กวางตุ้ง) กล่าวรับรองความทนทานของสะพานข้ามทะเลที่ยาวสุดในโลกแห่งนี้ว่า สามารถต้านทานพายุลูกมหากาฬอย่างไต้ฝุ่นมังคุด และเป็นสัญลักษณ์การบรรลุความฝันของประชาชนในสามดินแดน โดยแผนเมกะโปรเจกต์สะพานเชื่อม ฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า ได้สร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (The Greater Bay Area) ซึ่งเป็นความคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการผลักดันยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญ อันเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้แก่มณฑลกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ฝันเฟื่อง เสมือนเป็นการคลำหินก้าวข้ามแม่น้ำของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนรุ่นที่ ๒ ที่คลำจนนำพาประเทศจีนให้ก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.hongkongfp.com/2018/10/23/chinas-xi-jinping-opens-hong-kong-mainland-mega-bridge/
http://thai.cri.cn/247/2018/10/24/230s272798.htm
https://mgronline.com/china/detail/9610000106199
https://mgronline.com/china/detail/9610000105980
http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/23/c_137552885.htm