bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มิ.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ยุโรป หลังโควิด-๑๙ จากการประชุมผ่านระบบทางไกลระหว่างผู้นำของจีนกับกลุ่มผู้นำสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ ๒๒ มิ.ย.๖๓

จีนศึกษา (วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มิ.ย.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ยุโรป หลังโควิด-๑๙ จากการประชุมผ่านระบบทางไกลระหว่างผู้นำของจีนกับกลุ่มผู้นำสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ ๒๒ มิ.ย.๖๓ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

๑. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (习近平Xi Jinping) ผู้นำของจีน กล่าวเน้นว่า  
     ๑.๑ จีนต้องการสันติภาพแต่ไม่ต้องการการผูกขาด จีนเป็นโอกาสแต่ไม่ใช่ภัยคุกคาม จีนเป็นหุ้นส่วนแต่ไม่ใช่คู่แข่ง ดังนั้น จีนและยุโรปควรเคารพกัน แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง รวมทั้งเพิ่มพูนความเข้าใจและความไว้วางใจกัน และขยายผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาระหว่างการพัฒนา
      ๑.๒ จีนและยุโรปต่างเป็นกำลังสำคัญของโลก โดยเป็นตลาดใหญ่ทั้งสองแห่ง ดังนั้น ข้อเสนอและความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจึงมีความหมายสำคัญต่อทั่วโลก
     ๑.๓ จีนและยุโรปเป็นกำลังสำคัญที่รักษาสันติภาพและความมั่นคงของทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ไม่เคยมีในรอบ ๑๐๐ ปี จากสภาวะการระบาดของโควิด-๑๙ ได้กระตุ้นให้จีนและยุโรปต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและประสานงานในประเด็นปัญหาที่สำคัญต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก  

๒. กลุ่มผู้นำสหภาพยุโรป ซึ่งมีนาย ชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานคณะมนตรีสหภาพยุโรป และนางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ฝ่ายยุโรปจะใช้ความเปิดเผยและตรงไปตรงมา ดำเนินการเจรจาทางยุทธศาสตร์กับจีน โดยเฉพาะการขยายความรับรู้ร่วมกัน

๓. ข้อสังเกตเกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ยุโรป
     ๓.๑ การประชุมครั้งนี้ นับเป็นการพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างผู้นำจีนและผู้นำคนปัจจุบันของสหภาพยุโรป ภายใต้กรอบแนวคิดความร่วมมือแบบเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่อส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น และก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
     ๓.๒ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า จีนและสหภาพยุโรปในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทำให้มีความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน และมีความเข้าใจกันมากกว่าจะเกิดความขัดแย้งกัน
     ๓.๓ รูปธรรมความคืบหน้าจากการหารือกันในครั้งนี้ ได้แก่ (๑) การขับเคลื่อนการเจรจาว่าด้วยข้อตกลงด้านการลงทุนระหว่างจีน-สหภาพยุโรป  (๒) การประกาศเตรียมลงนามข้อตกลงว่าด้วยสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ระหว่างจีน-สหภาพยุโรป  และ (๓) การบรรลุความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการประกันความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของโลก

บทสรุป

 
ในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีแห่งวาระครบรอบ ๔๕ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในปี ๒๐๐๓ (พ.ศ.๒๕๔๖) ที่จีนและยุโรปได้ประกาศความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ดังนั้น ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ยุโรป หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ที่ยังคงกระจายไปทั่วโลกนั้น จะไม่กระทบความร่วมมือระหว่างจีน-สหภาพยุโรป และยิ่งจะก่อให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนมากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยการเปิดกว้างทางการตลาด รวมทั้งการปกป้องกลไกพหุภาคีและการค้าเสรีร่วมกัน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์