การประชาสัมพันธ์ข้อมูลก่อนการประชุมฟอรั่มเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ ๒ (2nd Belt and Road Forum for International Cooperation) ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๗ เม.ย.๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การนำเสนอข้อมูลที่เป็นจุดเริ่มต้นของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (一带一路หรือ Belt and Road Initiative: BRI) โดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เสนอข้อริเริ่มดังกล่าว เมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ.๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ที่ประเทศคาซัคสถาน และต่อมาเมื่อเดือนตุลาคมในปีเดียวกันนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ประเทศอินโดนีเซีย
๒. การนำเสนอข้อมูลรูปแบบและพัฒนาการที่ก้าวหน้าตลอดระยะเวลาเกือบ ๖ ปีที่ผ่านมา ของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI จนมี ๑๒๙ ประเทศ และ ๒๙ องค์กรระหว่างประเทศได้ร่วมลงนามในเอกสารว่าด้วยความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับจีน และในทุกวันนี้ ประเทศจีนมีเพื่อนร่วมสร้างข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น การสร้างสรรค์นิคมอุตสาหกรรม Great Stone ระหว่างจีน- เบลารุส การเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการของท่าเรือกวาดาร์ (Gwadar Port) ความร่วมมือทางการเกษตร การประสานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และการสร้างสรรค์เขตการค้าเสรี เป็นต้น
๓. การเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบของสารคดี
๓.๑ เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย.๖๒ เฟซบุ๊ก Chinese Embassy in Bangkok โดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่คลิปวีดิโอ ความยาว ๓.๒๖ นาที เกี่ยวกับเรื่องราวของเสี่ยวไท่ (小泰) ทุเรียนจากประเทศไทย ที่ถูกส่งออกไปขายให้กับผู้บริโภคในประเทศจีนผ่านเส้นทางที่ถูกพัฒนาจากข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
๓.๒ ไชน่ามีเดียส์กรุ๊ปก็ประกาศเปิดตัวสารคดี “อนาคตร่วมกัน” ของการประชุมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือนานาชาติ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งมี ๓ ตอน โดยมีเนื้อหาเอธิบายกี่ยวกับแนวคิดและความหมายของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จากแง่มุมทางประวัติศาสตร์และความจริง มีการใช้สถานที่ถ่ายทำกว่า ๓๐ ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เช่น ที่สถานีกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำปากีสถาน ที่เมืองการเงินสิงคโปร์ ที่นิคมอุตสาหกรรมเบลารุส ที่ขบวนรถไฟระหว่างจีนกับยุโรปในโปแลนด์ ที่ห้างมาร์กเซยในฝรั่งเศส และที่ท่าเรือวาเลนเซียในสเปน เป็นต้น
บทสรุป
อาจกล่าวได้ว่า โครงการความริเริ่มหรือข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ดังกล่าวนี้ ไม่เป็นเพียงการส่งเสริมการประสานเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังได้ค่อย ๆ เปลี่ยนชีวิตประจำวันของคนในโลกอีกด้วย ดังนั้น การประชุมฟอรั่มความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางครั้งที่ ๒ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นในวันนี้ โดยมีผู้นำจาก ๔๐ ประเทศ เข้าร่วมการประชุมฯ จะเป็นการก้าวย่างที่สำคัญเข้าสู่อีกระดับหนึ่งในด้านการพัฒนา สำหรับความเคลื่อนไหวที่สำคัญจากการประชุมฯ จะนำเสนอต่อไปเป็นลำดับ
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://chinaplus.cri.cn/news/china/9/20190422/278964.html
http://thai.cri.cn/20190422/fe29afec-87c4-aa05-35f2-195f75766c58.html
http://www.briupdates.com/regional/detail/c05b2154f2fa4c82b632e2c6522a63f3
https://www.geopoliticalmonitor.com/background-pakistans-gwadar-port/
https://eng.yidaiyilu.gov.cn/qwyw/rdxw/84535.htm
https://mgronline.com/china/detail/9620000038593
http://thai.cri.cn/20190423/401eeca3-4b50-18b0-50f2-130aaa535361.html