bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ก.ย.๖๒ ข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนจากศูนย์ข่าวของกิจกรรมฉลองครบรอบ ๗๐ ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ย.๖๒

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหนิง จี๋เจ๋อ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ได้แถลงว่า เศรษฐกิจจีนมีอัตราสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่เป็นอันดับหนึ่ง โดยนับตั้งแต่ปี ๑๙๕๒ - ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๔๙๕ - ๒๕๖๑) GDP ต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นจาก ๑๑๙ หยวนเป็น ๖๔,๖๐๐ หยวน มีการเพิ่มขึ้นถึงเกือบ ๗๐ เท่า ในขณะที่ นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน ซึ่งเป็นธนาคารกลางของจีน ก็ได้แถลงว่า อุตสาหกรรมการเงินของจีนยังคงมีการปฏิรูปและเปิดกว้างยิ่งขึ้น ได้จัดตั้งระบบการเปิดกว้างที่เปิดสู่ทั่วโลก และมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน

๒. อาจกล่าวได้ว่า ในช่วง ๗๐ ปี นับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) เศรษฐกิจจีนได่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหากมองจากสถิติ ระดับ GDP ในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ของจีนเพิ่มขึ้น ๑๗๔ เท่า จากเมื่อปี ๑๙๕๒ (พ.ศ.๒๔๙๕) และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ ๑๖ ของเศรษฐกิจโลกในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) โดยยอดมูลค่าการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก ๑,๑๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ๑๙๕๐ (พ.ศ.๒๔๙๓) เป็น ๔.๖ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า ๔,๐๐๐ เท่า ซึ่งหากมองในมุมโครงสร้างการค้าต่างประเทศของจีนมีระดับคุณภาพสูงขึ้น เปลี่ยนจากการค้าข้าว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่มีมูลค่าต่ำ เป็นการขายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ไฮเทคที่มีมูลค่าเพิ่มสูง นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจจีน ยังเปลี่ยนจากการเกษตรเป็นหลักในช่วงต้นปี ๑๙๕๐ (พ.ศ.๒๔๙๓) เป็นการเน้นการบริการเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม

บทสรุป
ในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาจากประเทศด้อยพัฒนาที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่ำ รวมไปถึงมีระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำ กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุด มีปริมาณการค้าสินค้ามากที่สุด มีปริมาณทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากที่สุด และเป็นประเทศที่มีต่างชาติมาลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่จีนผลักดันลัทธิพหุภาคี โดยนำเสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และ “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน” โดยใช้การปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม เพื่อร่วมสร้างคุณูปการต่อทั่วโลก ซึ่งผลสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากความได้เปรียบเชิงโครงสร้าง อันเกิดจากการที่จีนยืนหยัดเดินบนหนทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาของตนเองอย่างมุ่งมั่น โดยเฉพาะการทำให้ประชากรจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนพ้นจากสภาพความยากจน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
http://www.bjreview.com.cn/Business/201909/t20190925_800179307.html

http://thai.cri.cn/20190925/c3c3ee04-6881-ccb5-a465-a0ebbfc0aedd.html

http://thai.cri.cn/20190925/eebe37d1-e856-fdb8-4bcf-77c3e563680d.html

http://www.globaltimes.cn/content/1165168.shtml

https://chinanews.worldtimes.news/china-is-largest-contributor-to-world-economic-growth-official/