ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน ด้านต่างๆ ในรอบปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ปีนี้เป็นวาระครบรอบ ๑๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน และเป็นปีที่มีความหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการพัฒนาจีน-อาเซียน กล่าวคือ
๑.๑ ในด้านการไปมาหาสู่กันระหว่างผู้นำระดับสูงสูง ได้แก่ การที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนบรูไนและฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ยังได้เดินทางเยือนกัมพูชา อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ขณะที่ผู้นำประเทศอาเซียน นายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศลาว และนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ต่างก็ได้เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการที่นายกรัฐมนตรีจีน ได้เดินทางเยือนสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เมื่อเดือน พ.ค.๖๑ โดยนายหลี่ เค่อเฉียง ได้พบกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ พร้อมกับร่วมเป็นประธานในการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๒๑ เมื่อเดือน พ.ย.๖๑
๑.๒ ในด้านความเชื่อถือทางการเมือง ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เมื่อเดือน ส.ค.๖๑ จีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เห็นพ้องต้องกันในแนวปฏิบัติเกี่ยวกับทะเลจีนใต้เพียงร่างเดียว และเป็นความคืบหน้าที่สำคัญของการเจรจาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย.๖๑ ในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน (๑๐+๑) ครั้งที่ ๒๑ ณ ประเทศสิงคโปร์ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนและผู้นำประเทศอาเซียนต่างร่วมกันอภิปรายและรับรองเอกสาร “วิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ค.ศ.๒๐๓๐ (2030 Vision of China-ASEAN Strategic Partnership)” ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นประเทศหุ้นส่วนแรกของอาเซียนที่ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในระยะกลางและระยะไกล
๑.๓ ในด้านความร่วมมือเศรษฐกิจการค้า จนถึงเดือน ต.ค.๖๑ วิสาหกิจใหม่ที่อาเซียนลงทุนในจีนมี ๑,๓๘๒ แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๔.๖ ยอดการค้าจีน-อาเซียนอยู่ที่ ๓.๑๘ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๓.๗ หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๒.๗ ของยอดการค้าระหว่างประเทศของจีน
๑.๔ ในด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ปี ๒๐๑๘ มีการไปมาหาสู่กันของประชาชนจีนและอาเซียนโดยมีจำนวนยอดที่สูงทะลุ ๕๐ ล้านคน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายกำหนดให้ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) เป็นปีแลกเปลี่ยนด้านสื่อมวลชนจีน-อาเซียน ขยายความร่วมมือด้านการศึกษา การท่องเที่ยว และเยาวชน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนจีนและประชาคมอาเซียน
๒. การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน โดยมีการจัดงานฉลองครบรอบ ๗ ปี แห่งการจัดตั้งศูนย์จีน – อาเซียน เมื่อวันที่ ๑๐ ธ.ค.๖๑ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่ง นายหวู เจียงฮ่าว อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา บรูไนประจำประเทศจีน และเจ้าหน้าที่ทางการทูตจีนของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน ตลอดจนบุคคลในแวดวงต่างๆ ได้เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ ศูนย์จีน – อาเซียน ได้จัดตั้งขึ้นบนเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ ๑๑ พ.ย. ปี ๒๐๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๔) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ร่วมกันจัดตั้งโดยรัฐบาลจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง และศูนย์จีน – อาเซียนนี้ ได้ทุ่มกำลังส่งเสริมความร่วมมือ ๕ ด้านสำคัญ ได้แก่ การค้า การลงทุน การศึกษา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
บทสรุป
ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๑๕ ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียน โดยมีการคาดการณ์กันว่าความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนจะมีอนาคตกว้างไกลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการรับรองเอกสารวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ค.ศ.๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ในการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๒๑ เมื่อเดือน พ.ย.๖๑ และหัวใจของความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนในอนาคตคือ การยกระดับและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเจรจาว่าด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ ๑๐+๖ ได้มีความคืบหน้า ซึ่งจะเพิ่มเติมพลังในทางบวกให้กับเศรษฐกิจโลก และจะกลายเป็นความตกลงทางการค้าที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดของภูมิภาคเอเชีย โดยครอบคลุมความร่วมมือใน ๑๖ ประเทศ ที่มีจำนวนประชากรถึงครึ่งหนึ่งของโลก เป็นต้น
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.xinhuanet.com/english/2018-09/28/c_137498852.htm
http://thai.cri.cn/20181221/55874fc2-97c3-1cd0-f716-da838be1f419.html
http://thai.cri.cn/20181211/3c973e3b-b239-3623-d792-a56582bb6779.html
http://thai.cri.cn/20181115/f4ee848d-6b7f-711f-4d7b-fac66a8f90d5.html
http://thai.cri.cn/20181114/a764108e-ac45-2a8e-927d-8315fb51ecdb.html
https://asean.org/storage/2018/11/ASEAN-China-Strategic-Partnership-Vision-2030.pdf