bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มิ.ย.๖๒ ทิศทางของโครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ ๘ (ตอนที่ ๓ ว่าด้วยข้อเสนอจากการสัมมนาครั้งที่ ๗ โดยศาสตราจารย์ ดร. Professor Cui Changcai จาก Harbin Institute of Technology)

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. แบบจำลองด้านความร่วมมือ จีน-ไทย ในอนาคต ๑๐ ปีข้างหน้าตามนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเป็นนโยบายของ นายกหลี่ เค่อเฉียง ที่ประกาศเมื่อปีค.ศ. ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่การเป็นโรงงานของโลก โดยรัฐบาลจีนเร่งเดินหน้าปรับปรุงเทคโนโลยีและคุณภาพของสินค้าที่จีนผลิตขึ้น รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด ตามเป้าหมาย “Made in China 2025” เพื่อแก้ปัญหามลภาวะ และยอดส่งออกที่ลดลง รวมทั้งเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของจีนในฐานะโรงงานผลิตสินค้าราคาถูกของโลก ให้เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นที่ต้องการเร่งการพัฒนานวัตกรรมภายใต้แผน “Made in China 2025”

๒. นับตั้งแต่ปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) จีนมีแผนการที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศทั้งหมดให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค โดยให้การสนับสนุนด้านนโยบายและการเงิน การออกกฎหมายคุ้มครอง การจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการอัดฉีดเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของแผน Made in China 2025 ทำให้จีนมีผลงานด้านเทคโนโลยีมากมาย อาทิ ห้องทดลองอวกาศเทียนกง ยานดำน้ำสำรวจทะเลลึกพร้อมมนุษย์เจียวหลง กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้จีนยังได้สร้างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Baidu Alibaba และ Tencent ซึ่งเทียบได้กับ Google eBay และ Facebook ของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันบริษัทจีนเหล่านี้ก็รับนโยบายจากรัฐบาลให้ร่วมกันทำวิจัยด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งนี้การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมของโลก เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของจีนภายในปี ค.ศ.๒๐๕๐ อีกด้วย

๓. ความร่วมมือไทย-จีนในอนาคต จึงต้องมุ่งเน้นถึงโอกาสของอุตสาหกรรม ๑๐ ประเภทในจีน ภายใต้แนวคิด “Made in China 2025” โดยมุ่งเน้นพัฒนาจีน “จากประเทศการผลิตยักษ์ใหญ่เป็นประเทศการผลิตที่แข็งแกร่ง”ภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัท McKinsey บริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลกคาดการณ์ว่า ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า จะมีบริษัทจีนจำนวนหนึ่งพัฒนาเป็นผู้นำทั่วโลก ประกอบด้วย (๑) อุตสาหกรรมสารสนเทศ (๒) หุ่นยนต์ควบคุมด้วยตัวเลข (Numerical control robot) (๓) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อากาศยาน (๔) อุตสาหกรรมการต่อเรือไฮเทค (๕) อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ (๖) อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ (๗) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงาน (๘) อุปกรณ์การผลิตวัตถุดิบใหม่ (๙) อุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์การผลิตยา (๑๐) อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการเกษตร

๔. สำหรับกลยุทธ์ ๓ ขั้นตอน ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่จะเปลี่ยนจีนก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในปี ค.ศ.๒๐๔๙ (พ.ศ.๒๕๙๒)
        ๔.๑ ขั้นที่ ๑ (ปี ๒๐๑๖ - ๒๐๒๕) มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและยกระดับผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดต้นทุนการผลิตและลดอัตราการปล่อยของเสียร้อยละ ๕๐ จากปัจจุบัน ทั้งนี้ ภายใต้การพัฒนาในขั้นนี้ ทางการจีนยังมีความพยายามในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจีนสามารถริเริ่มการพัฒนาตราสินค้าผ่านการวิจัยและพัฒนาด้วยตนเองจนก่อให้เกิดสินค้าหรือบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในจีน หรือที่เรียกว่า Created in China
        ๔.๒ ขั้นที่ ๒ (ปี ๒๐๒๖ - ๒๐๓๕) มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้สูงขึ้นอย่างมีนัย อันจะมีส่วนช่วยยกระดับศักยภาพโดยรวมของอุตสาหกรรมการผลิตจีนให้เทียบเท่าประเทศ มหาอำนาจของโลกภายในปี ๒๐๓๕
        ๔.๓ ขั้นที่ ๓ (ปี ๒๐๓๖ - ๒๐๔๙) มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการผลิตจีนขึ้นสู่ระดับประเทศมหาอำนาจด้านการผลิตชั้นนำของโลกในปี ๒๐๔๙ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

๕. ข้อสังเกต แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ภายใต้ ๑๐ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีนนั้นนับเป็นกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมการผลิต การประสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับภาคอุตสาหกรรมรวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตราสินค้าของจีนในตลาดต่างประเทศ โดยมีแนวคิดที่จะปรับใช้กลยุทธ์การรวมกันในแนวดิ่ง (Vertical integration) ด้วยการสร้างห่วงโซ่การผลิต ทั้งในแง่ของการจัดหาวัตถุดิบหรือการผลิตสินค้าขั้นกลางในประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าหรือบริการแห่งอนาคต อันจะมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting industry) ภายในประเทศจีนเองมากขึ้น

บทสรุป
จากยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (MiC 2025) ต่ออุตสาหกรรมของจีนในอนาคตว่า ในระยะสั้น-กลาง (ภายในปี ๒๐๒๕) ผู้ประกอบการจีนน่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตได้มากขึ้น (Eliminating inefficient production capacity) ผ่านการการเร่งสร้างอุตสาหกรรมสนับสนุนของจีนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อันอาจเปลี่ยนโฉมหน้าความสัมพันธ์ด้านการค้าต่อไทยในระยะสั้น-กลาง ส่วนในระยะยาวโอกาสของไทยในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมขั้นสูงกับจีน ประกอบกับการนำเข้าเทคโนโลยีจากการพัฒนา MiC 2025 เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคการผลิตของไทย โดยแนวโน้มความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีนอาจเป็นจุดพลิกผันบทบาทของจีนจาก “โรงงานของโลก (Factory of the world)” แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาว โอกาสในการลงทุนของบรรษัทจีนในไทยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย Thailand 4.0 ยังคงมีอยู่ ซึ่งบางส่วนสอดรับกับทิศทางการพัฒนา MiC 2025 หรือแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภคจีนได้อย่างลงตัว อาทิ การลงทุนในการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบิน (Aerotropolis) หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระดับ High end เพื่อตอบโจทย์นักเดินทางชาวจีนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่อาจมองข้ามการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความยืดเยื้อ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก

เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน วช. www.vijaichina.com
https://1th.me/Fpkb