bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ส.ค.๖๓ : ข้อคิดจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (国家主席习近平) ในเวทีประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม (在经济社会领域专家座谈会上的讲话) โดยได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ระยะเวลา ๕ ปี ฉบับที่ ๑๔ (ตอนที่ ๑)

ขอนำเสนอข้อคิดจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (国家主席习近平) ในเวทีประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม (在经济社会领域专家座谈会上的讲话) โดยได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ระยะเวลา ๕ ปี ฉบับที่ ๑๔ (ตอนที่ ๑)  ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้  
 
๑. การจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับงานด้านเศรษฐกิจและสังคมนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของผู้ที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่มีทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยา ต่อประเด็นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้ การจัดวางแผนระยะกลางและระยะยาว ในการชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นรูปแบบสำคัญในการปกครองบริหารประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน  ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๕๓ เป็นต้นมา โดยจีนได้ปฏิบัติตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา ๕ ปี รวม ๑๓ ฉบับแล้ว ซึ่งได้ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ยกระดับพลังรวมแห่งชาติ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างมาก
 
๒. ภาคปฏิบัติได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แผนการพัฒนาในระยะกลางและระยะยาว ไม่เพียงสามารถทำให้ตลาดแสดงบทบาทเชิงชี้ขาดในการจัดสรรทรัพยากร หากยังทำให้รัฐบาลสามารถแสดงบทบาทได้ดียิ่งขึ้นด้วย โดยช่วงปฏิบัติตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะเวลา ๕ ปี ฉบับที่ ๑๔ (“十四五”) เป็นช่วง ๕ ปีแรกที่จีนเริ่มกระบวนการใหม่แห่งการสร้างสรรค์สังคมนิยมที่มีความทันสมัยอย่างรอบด้าน และก้าวไปสู่เป้าหมายบากบั่นต่อสู้๑๐๐ ปีรอบที่ ๒ หลังประเทศเราได้สร้างสังคมมั่งคั่งระดับปานกลางอย่างรอบด้าน และได้บรรลุเป้าหมายบากบั่นต่อสู้ ๑๐๐ ปีรอบแรก  ซึ่งไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตาม หากมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าด้วยดี ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ โดยต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และตระหนักถึงแนวโน้มที่ต้องเป็นไป รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตลอดจนระดมภูมิปัญญาจากฝ่ายต่างๆ  และศึกษาวิจัยสถานการณ์ใหม่ เพื่อจัดวางแผนการพัฒนาฉบับใหม่ที่ดี กล่าวคือ
     ๒.๑ ประการแรก ในยุคใหม่แห่งการพัฒนา สภาพแวดล้อมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ได้นำมาทั้งโอกาสใหม่ และการท้าทายใหม่ต่าง ๆ  วิกฤตและโอกาสจะมาพร้อมกัน กล่าวคือ ท่ามกลางวิกฤตจะมีโอกาส และต้องสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ต้องใช้ตรรกวิภาษในการทำความเข้าใจและตระหนักถึงแนวโน้มที่ต้องเป็นไปของทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  ต้องทำให้ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีนอย่างยิ่งใหญ่ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกช่วงร้อยปีที่ผ่านมา โดยต้องมีการเรียนรู้ในระดับลึกซึ้งเกี่ยวกับลักษณะใหม่และความต้องการใหม่ ที่เกิดจากความขัดแย้งหลักทางสังคมที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  และมีความตระหนักในระดับลึกซึ้งถึงความขัดแย้งและการท้าทายใหม่ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีความสลับซับซ้อน  รวมทั้งต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างถูกต้อง  รับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามหลักวิทยาศาสตร์ มุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปยังทิศทางที่ดี  ต้องกล้าขับเรือทวนกระแสน้ำ  ต้องมีความชำนาญในการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส พยายามบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความเที่ยงธรรม ความถาวร และความมั่นคงมากขึ้น
     ๒.๒ ประการที่สอง สถานะใหม่แห่งการพัฒนาไม่ใช่การหมุนเวียนภายในประเทศแบบปิด แต่เป็นการหมุนเวียนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ จีนมีฐานะที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับเศรษฐกิจโลก พร้อมที่จะเปิดตลาดให้แก่ต่างประเทศมากขึ้น จะกลายเป็นแหล่งสำคัญในการดึงดูดสินค้าและปัจจัยการผลิตสำคัญจากต่างประเทศ  
     ๒.๓ ประการที่สาม ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงขับเคลื่อนการพัฒนาใหม่ การบรรลุซึ่งการพัฒนาที่ได้คุณภาพ ควรบรรลุซึ่งการเติบโตชนิดภายในที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ควรทุ่มกำลังยกระดับความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วยตนเองให้สูงขึ้น เร่งหาช่องทางบุกเบิกเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันกับการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ ทั้งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการหมุนเวียนใหญ่ภายในประเทศเป็นหลัก
     ๒.๔ ประการที่สี่ ใช้การลงลึกการปฏิรูป เพื่อกระตุ้นพลังชีวิตทางการพัฒนาใหม่ การปฏิรูปเป็นกุญแจสำคัญในการปลดปล่อยและการพัฒนากำลังการผลิตของสังคม เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเดินหน้าพัฒนาประเทศ โดยจีนดำเนินการปฏิรูปมาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว จนได้รับผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก สังคมจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระบบกลไกในการปรับความสัมพันธ์ทางสังคมและกิจกรรมสังคมก็จะปรับให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย จึงจะสามารถสอดรับกับความต้องการในการปลดปล่อยและการพัฒนากำลังการผลิตของสังคมอย่างต่อเนื่องได้
     ๒.๕ ประการที่ห้า ใช้การเปิดเสรีต่อต่างประเทศในระดับสูง เพื่อสร้างความร่วมมือ และการแข่งขันระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ประชาคมโลกมีความกังวลไม่น้อยต่ออนาคตกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเชื่อมต่อและการไปมาหาสู่ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยังคงเป็นความต้องการตามหลักความเป็นจริงในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
     ๒.๖ ประการที่หก ใช้การร่วมสร้างร่วมบริหารและร่วมเข้าถึงกัน เพื่อต่อยอดระยะใหม่ของการพัฒนาสังคม ซึ่งข้อเท็จจริงพิสูจน์ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการพัฒนาจะไม่น้อยกว่าช่วงที่ไม่พัฒนา โครงสร้างสังคมของประเทศจีนกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลุ่มลึก โดยอินเตอร์เน็ตได้เปลี่ยนวิถีการไปมาหาสู่กันของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง แนวคิดและจิตสำนึกอีกทั้งพฤติกรรมทางสังคมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลุ่มลึกตาม
 
บทสรุป

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นว่า จะทำสิ่งใดก็ตาม หากมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าด้วยดี ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ โดยต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และตระหนักถึงแนวโน้มที่ต้องเป็นไป รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตลอดจนระดมภูมิปัญญาจากฝ่ายต่างๆ  และศึกษาวิจัยสถานการณ์ใหม่ เพื่อจัดวางแผนการพัฒนาฉบับใหม่ที่ดี โดยเฉพาะข้อควรระวัง ๒ ประเด็นในการเดินหน้าเปิดเสรีต่อต่างประเทศ ได้แก่ (๑) ควรดำเนินความร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยสร้างรูปแบบการร่วมมือและการเปิดเสรีทุกระดับ หลายชั้น และหลายอย่าง (形成全方位、多层次、多元化的开放合作格局。) และ (๒) ควรให้ความสำคัญกับความมั่นคง โดยดำเนินการพัฒนาและความมั่นคงอย่างสมดุล เพื่อมุ่งสร้างเสริมขีดความสามารถของตน ในการป้องกันและควบคุมความเสี่ยง (开放监管能力、风险防控能力,炼就金刚不坏之身。)
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.court.gov.cn/xinshidai-xiangqing-249541.html 

https://news.sina.com.cn/c/xl/2020-08-24/doc-iivhuipp0453850.shtml 

http://thai.cri.cn/20200825/55d3921e-e9fb-5022-8b5d-4b8b6e50b125.html