bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มิ.ย.๖๑ : แนวทางของจีนในการส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างรอบด้าน

แนวทางของจีนในการส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างรอบด้าน รวมทั้งการขจัดมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำ และดิน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๔ มิ.ย.๖๑ คณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ CPC (Communist Party of China) และคณะมุขมนตรีจีน ได้ประกาศหลักแนะแนวทางของจีนในการส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างรอบด้าน รวมทั้งการขจัดมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำ และดิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมและป้องกันมลพิษตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) และช่วงหลังจากนั้น จีนจะพัฒนาและดำเนินการตามแผนระยะเวลา ๓ ปีเพื่อต่อสู้กับมลพิษอากาศ โดยจะพุ่งเป้าการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคอย่างเช่น ปักกิ่ง เทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย รวมทั้งเขตประชิดใกล้เคียงกัน ไปถึงลุ่มน้ำแยงซีเกียง ในแผนการต่อสู้กับปัญหามลพิษนี้ จะดำเนินมาตรการปรับปรุงโครงสร้างการใช้ที่ดิน การคมนาคม พลังงาน และอุตสาหกรรม

๒. เป้าหมายการควบคุมและป้องกันมลพิษ
        ๒.๑ ในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) กลุ่มเมืองที่มีคุณภาพอากาศตกต่ำ จะลดความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งเป็นดัชนีวัดมลพิษอากาศ ลง ๑๘ เปอร์เซ็นต์จากระดับสูงเมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ขณะที่ผู้อาศัยในพื้นที่หน่วยการปกครองระดับเมือง/จังหวัด หรือสูงกว่านั้น จะมีวันที่อากาศดีๆ คิดเป็นสัดส่วน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนการแพร่กระจายซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ไนโตรเจนออกไซด์ จะลดลงอย่างน้อย ๑๕ เปอร์เซ็นต์จากระดับสูงเมื่อปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘)
        ๒.๒ สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ จีนจะดำเนินมาตรการตามแผนกำจัดมลพิษทางน้ำ รวมทั้งระบบบริหารจัดการดูแลแม่น้ำทะเลสาบ โดยได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำผิวดิน จะมีคุณภาพในระดับดื่มกินได้ ส่วนน้ำผิวดินที่ปนเปื้อนสารพิษ จะถูกควบคุมให้อยู่ที่ระดับ ๕ เปอร์เซ็นต์ และราว ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำในพื้นที่นอกชายฝั่ง จะได้รับการการปรับปรุงสู่คุณภาพดี
        ๒.๓ ด้านแผนการแก้ไขปัญหามลพิษทางดิน จีนจะดำเนินแผนการที่ประกอบด้วยมาตรการเฉพาะเจาะจงเพื่อควบคุมมลพิษทางดิน ฟื้นฟูดินปนเปื้อน ส่งเสริมการแยกขยะ และสนับสนุนการควบคุมและป้องกันมลพิษจากขยะ โดยภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตร ที่ถูกปนเปื้อน จะถูกนำกลับมาใช้ได้อย่างปลอดภัย ขณะที่กว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของที่ดินปนเปื้อน ก็จะถูกนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน

๓. การสำรวจหาแหล่งกำเนิด ของมลพิษเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยเมื่อปลายเดือน มี.ค.๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Ministry of Ecology and Environment: MEE) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทำสำมะโนสิ่งแวดล้อม ระดับชาติครั้งที่ ๒ เพื่อระบุและหาแหล่งที่มาของมลพิษ (pollution source) โดยกำหนดแล้วเสร็จในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ซึ่งข้อมูลระหว่างการทำสำมะโน พบว่า
        ๓.๑ แหล่งที่มาของมลพิษของประเทศจีนเพิ่มขึ้นเกินครึ่งจากการทำสำมะโนสิ่งแวดล้อมครั้งแรกเมื่อปี ๒๐๐๙ (พ.ศ.๒๕๕๒) ที่พบเพียง ๕.๙ ล้านแหล่ง ทว่าปัจจุบันกลับเพิ่มขึ้นเป็น ๙ ล้านแหล่ง โดยในจำนวนนี้มีที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ๗.๔ ล้านแหล่ง ควันพิษจากชุมชน ๑ ล้านแหล่ง และจากเมืองใหญ่อีก ๐.๕ ล้านแหล่ง
        ๓.๒ สำหรับสาเหตุหลักของแหล่งมลพิษที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นคาดการณ์ว่ามาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานอุตสาหกรรมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และเพื่อจัดการกับปัญหามลพิษได้อย่างเต็มรูปแบบ รัฐบาลจีนยังประกาศขยายอำนาจและอายุการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเป็นเวลา ๑๐ ปี เพื่อรวบรวมปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยจะจัดการและรับผิดชอบเพียงกระทรวงเดียว

๔. กรณีตัวอย่างการแก้ไขปัญหา มลพิษทางอากาศของกรุงปักกิ่ง ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา
        ๔.๑ ในขั้นตอนแรก การประกาศนโยบายควบคุมมลพิษตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด ได้แก่ การโอนย้ายหรือสั่งปิดบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษ และการกระจายสาขาธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทของเมืองหลวง เช่น ตลาดขายส่งเสื้อผ้าและตลาดขายส่งผักและผลไม้ ไปยังมณฑลข้างเคียง เป็นต้น
        ๔.๒ ในขั้นตอนต่อไป กรุงปักกิ่งมีเป้าหมายจะลดความเข้มข้นของ PM 2.5 ให้ต่ำกว่าเฉลี่ย 56µg/m3 ต่อปี ทั้งนี้ จีนได้เริ่มใช้กฎหมายว่าด้วยภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๖๑ ซึ่งมณฑลต่าง ๆ ของจีนมีการประกาศมาตรฐานในการเก็บภาษีดังกล่าว โดยกรุงปักกิ่งกำหนดจะเก็บภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอัตรา ๑๒ หยวนต่อหน่วยของการปล่อยมลพิษทางอากาศ และ ๑๔ หยวนต่อหน่วยมลพิษทางน้ำ เป็นต้น

บทสรุป

การกำหนดเป้าหมายของการทำสำมะโนสิ่งแวดล้อม โดยการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อสามารถสะท้อนถึงขอบเขตของทุกปัญหามลพิษ อันจะนำไปสู่ความจริงจังในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจีน โดยเฉพาะการขยายอำนาจการทำงานและการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ยาวถึง ๑๐ ปี เพื่อรับผิดชอบปัญหาดังกล่าวอย่างครบถ้วน รอบด้าน และลงลึกเพียงกระทรวงเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องต่างๆ ได้ถูกกระจายหน้าที่ให้หลายกระทรวง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การทำสำมะโนสิ่งแวดล้อม และการที่มีหน่วยงานเดียวลงมือรับผิดชอบดังกล่าว นอกจากจะเป็นการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลแล้ว ยังจะสามารถปรับปรุงระบบติดตามประเมินผลให้ดีขึ้นได้อีกด้วย จึงเป็นแนวทางในการส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างรอบด้าน รวมทั้งการขจัดมลพิษ ที่เป็นรูปธรรมและน่าสนใจ

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.ooskanews.com/story/2018/06/china-issues-new-guidelines-battle-against-pollution_176647

https://mgronline.com/china/detail/9610000063391

https://greennews.agency/?p=17119

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?SECTION_ID=469&ID=18180 

https://greennews.agency/?p=17119

https://www.facebook.com/thaiaseanpanorama/posts/2007390046146600