ความเคลื่อนไหวทางทหารของจีน กรณีการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ ๓ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. มีรายงานข่าวเกี่ยวกับจีนที่ได้ดำเนินการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ ๓ โดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ PLA (People’s Liberation Army) ไม่ได้ปฏิเสธข่าวในเรื่องนี้ ซึ่งเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนลำนี้ จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และขับคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ มีการติดตั้งระบบส่งอากาศยานแบบ CATOBAR (Catapult-Assisted Take-Off But Arrested Recovery) ร่วมกับเครื่องบินขับไล่ J-15 ที่มีการปรับปรุงฐานล้อให้รองรับการส่งด้วย Catapult แบบแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ได้สร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือเจียงหนานใกล้กับมหานครเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว (ปี ๒๐๑๗ หรือ พ.ศ.๒๕๖๐) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศว่า จะเปลี่ยนกองทัพจีนให้กลายเป็นกองกำลังสู้รบระดับโลกภายในปี ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๙๓) และทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เป็นหลักสำคัญของนโยบาย พร้อมกับลงทุนพัฒนาเครื่องสเตลธ์ เรือบรรทุกเครื่องบิน และขีปนาวุธ โดยเฉพาะการอัปเกรดอาวุธสำหรับกองทัพเรือจีนภายในปี ๒๐๒๕ (พ.ศ.๒๕๖๘)
๒. ความเคลื่อนไหวในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนในรอบปีนี้
๒.๑ โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค.๖๑ ว่า นับตั้งแต่เรือบรรทุกเครื่องบิน "เหลียวหนิง" ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ที่ซื้อจากยูเครนและนำมาพัฒนาใหม่ (เรือบรรทุกเครื่องบิน "เหลียวหนิง" ลำนี้มีน้ำหนัก ๕ หมื่นตัน ยาว ๓๐๒ เมตร กว้าง ๗๐.๕ เมตร มีความเร็ว ๓๒ น็อต หรือ ๕๙ กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่ J-15 ได้ ๒๔ ลำ) ได้เข้าประจำการในกองทัพเรือของจีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๕ ก.ย.๕๕ เป็นต้นมา และผ่านการซ้อมรบมาแล้วหลายครั้ง เช่น การเดินทางไปยังบริเวณน่านน้ำที่ห่างไกลจากชายฝั่งเพื่อปฏิบัติการณ์สู้รบ จนถึงขณะนี้ เรือลำดังกล่าวมีความพร้อมในการสู้รบขั้นพื้นฐานแล้ว
๒.๒ ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนลำที่ ๒ (เรือรุ่น 001A) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่จีนออกแบบและผลิตเองเป็นลำแรก (เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้มีน้ำหนัก ๗ หมื่นตัน ยาว ๓๑๕ เมตร กว้าง ๗๕ เมตร มีความเร็ว ๓๑ น็อต สามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่ J-15 ได้ ๓๖ ลำ โดยคาดว่าจะได้รับการตั้งชื่อเรือว่า “ซานตง” และคาดว่าจะนำเข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๕๖๓) ได้เริ่มออกเดินทางจากท่าเรือเมืองต้าเหลียน วันที่ ๑๓ พ.ค.๖๑ ไปทดลองปฏิบัติหน้าที่ทางทะเลในน่านน้ำที่เกี่ยวข้อง เพื่อทดสอบสมรรถภาพของเรือ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง นับเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินจีนลำที่ ๒ ที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่สามารถออกไปทำการทดลองทางทะเล
๓. ข้อสังเกต ปัจจัยที่ทำให้จีนมีความต้องการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ ๓ รวมทั้งมีแผนที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นเป็น ๖ ลำ (โดยลำที่ ๓ – ๖ จะมีขนาดใหญ่มากขึ้น)
๓.๑ ปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางต่างๆ ในซีกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย เพื่อคอยปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ต่างๆ ของจีน ทั้งที่เป็นประโยชน์เชิงภูมิรัฐศาสตร์และที่เป็นผลประโยชน์ทางทะเล
๓.๒ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญยิ่งยวดเส้นทางหนึ่งซึ่งรองรับซัปพลายทางด้านพลังงานและการไหลเวียนเข้าออกทางการค้าของประเทศจีน ขณะที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ก็มีความน่าห่วงใยด้านความมั่นคงอยู่หลายประการ
๓.๓ ปัจจัยการเตรียมความพร้อมทางการทหาร ซึ่งการมีเรือบรรทุกเครื่องบินจะทำให้จีนมีช่องทางขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นมากขึ้น ในกรณีเกิดสถานการณ์ที่อยู่ในฉากทัศน์ (scenario) อันเลวร้ายที่สุด ซึ่งจะต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ในแนวรบหลายๆ ด้าน ภายในทศวรรษหน้า ทำให้จีนมีความจำเป็นจะต้องต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ ๓ เพื่อรองรับต่อเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีน ที่แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น ได้แก่ (๑) ระยะห่วงโซ่ที่ ๑ (First Island Chain) คือ บริเวณทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ (๒) ระยะห่วงโซ่ที่ ๒ (Second Island Chain) มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งเอเชียตะวันออก และ (๓) การปฏิบัติการได้รอบโลก (Global Force) รวมทั้งยุทธศาสตร์ทางทหารในการต่อต้านการเข้าถึงหรือการปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area-denial : A2/AD) เพื่อป้องกันการถูกโจมตีด้วยกำลังทหารและระบบขีปนาวุธของฝ่ายตรงข้ามจากภายนอกประเทศ
บทสรุป
สถานการณ์ความไม่แน่นอนในทะเลจีนใต้ ที่จีนเห็นว่ากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกปิดล้อม โดยเฉพาะการเพิ่มการลาดตระเวนของกองเรือรบของสหรัฐฯ ที่มุ่งแล่นเข้าใกล้กับบริเวณเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นโดยอ้างกรรมสิทธิ์ ทำให้จีนต้องเร่งเสริมสร้างกองกำลังทางเรือให้มีความเข้มแข็ง เพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ทางทะเลของจีน รวมทั้งสนับสนุนโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ดังนั้น จึงทำให้จีนจำเป็นต้องต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ ๓ ขึ้น ตลอดจนมีแผนที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นรวมเป็นจำนวน ๖ ลำ ซึ่งจีนเป็นประเทศที่ ๗ ของโลกที่มีความสามารถในการผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินได้เอง ต่อจากสหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://aagth1.blogspot.com/2016/08/catapults.html
http://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=1599
https://www.bbc.com/thai/international-39717511
http://news1live.com/detail.aspx?NewsID=9610000037547
https://www.news1live.com/detail.aspx?NewsID=9610000049651
https://mgronline.com/around/detail/9610000020627
https://www.thvideos.net/video/jQo196Jv9jU/cchiinetriiymerng.html