bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ส.ค.๖๒ กรณีข้อพิพาทระหว่างจีนกับเวียดนามในทะเลจีนใต้

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมิ่อวันที่ ๒๗ ส.ค.๖๒ นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า จีนเป็นผู้รักษาและปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจีนใช้สิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด และมุ่งรักษาสันติภาพ ความมั่นคงและระเบียบของภูมิภาค สำหรับกรณีทางทะเลระหว่างจีนและเวียดนาม ที่ความจริงชัดเจนมาก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ กลับมองข้ามความเป็นจริง และได้ประณามจีนอย่างไร้เหตุผลบ่อยครั้ง เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งจีนขอคัดค้านอย่างรุนแรง

๒. ข้อสังเกต ได้มีการวิเคราะห์เป้าหมายในการดำเนินนโยบายของจีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้ ใน ๔ ประการ ประกอบด้วย
        ๒.๑ ประการแรก เป้าหมายนโยบายขั้นพื้นฐานของจีนในปัญหาทะเลจีนใต้คือ เพื่อพิทักษ์อธิปไตย ความมั่นคง และสิทธิประโยชน์ทางทะเลของจีน จีนมักจะใช้ความยับยั้งชั่งใจต่อการเคลื่อนไหวทั่วไปของคู่กรณี แต่ในบางกรณีที่จำเป็นจริงๆ จีนจะใช้มาตรการตอบโต้หลังถูกกระทำ ซึ่งประชาชนจีนไม่ยอมปล่อยให้ประเทศใดทำลายอธิปไตยและสิทธิประโยชน์ของจีนเหนือหมู่เกาะและน่านน้ำบริวารในทะเลจีนใต้มากขึ้น โดยประชาชนจีนต้องการให้รัฐบาลพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ของจีนเอง ด้วยเหตุนี้ จีนจะปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิประโยชน์ของตนเองอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ เพิ่มความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความเสียหายมากขึ้น จากสถานการณ์ปัจจุบัน ขอเพียงไม่มีการคุกคามที่ร้ายแรง และจีนจะยึดมั่นในนโยบายปัญหาทะเลจีนใต้ คือ "สงวนข้อพิพาท ร่วมกันบุกเบิกพัฒนา " บนพื้นฐานเคารพข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ สำหรับนโยบายของจีนในการแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้ด้วยสันติวิธีโดยผ่านการปรึกษาหารือและเจรจานั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง
        ๒.๒ ประการที่สอง นโยบายของจีนในปัญหาทะเลจีนใต้ โดยเน้นการรักษาเสรีภาพการเดินเรือ และความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ ทั้งนี้ ทะเลจีนใต้เป็นช่องทางระดับยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เป็นเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้าที่สำคัญที่สุดของโลก สินค้าที่ขนส่งทางทะเลทั่วโลก ๔๐% ส่งผ่านช่องทางนี้ เสรีภาพและความปลอดภัยของการเดินเรือในทะเลจีนใต้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเขตเศรษฐกิจใหญ่ทั่วโลกรวมทั้งจีนด้วย การค้าและการลำเลียงพลังงาน ๗๐% - ๘๐% ของจีนต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ จึงกล่าวได้ว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ประโยชน์จากเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้มากที่สุด นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังเป็นช่องทางสำคัญสำหรับกองทัพเรือจีนที่จะแล่นไปยังทะเลไกลมากขึ้น
        ๒.๓ ประการที่สาม ตัวหารร่วมมากที่สุด หรือ ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุดของจีนและประเทศรอบข้างในทะเลจีนใต้คือ การพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ซึ่งจีนไม่มีเจตนาหรือโครงการใดที่จะแสวงหาครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคนี้ และสาเหตุที่จีนพยายามยับยั้งข้อขัดแย้งและข้อพิพาทกับคู่กรณี เป็นเพราะว่าได้คำนึงถึงความสำคัญของสภาวะแวดล้อมที่มีเสถียรภาพ ในวันข้างหน้า โดยจีนจะใช้ความพยายามหลายด้านดังนี้ต่อไป คือ (๑) เสนอและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกับประเทศรอบข้างมากขึ้น เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจกัน (๒) ให้บริการสาธารณะในทะเลจีนใต้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงและความผาสุกของภูมิภาคนี้ (๓) บรรลุแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea) กับประเทศอาเซียน ร่วมกันกำหนดกฎระเบียบของภูมิภาคนี้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในระยะยาว จีนในฐานะประเทศใหญ่สุดในบรรดาประเทศที่อยู่รอบชายฝั่งทะเลจีนใต้ จะเพิ่มความสามารถการป้องกันตนเอง และการรักษาสันติภาพของทะเลจีนใต้ รวมทั้งมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการแก้ไขข้อพิพาทด้วยการเจรจา
        ๒.๔ ผลประโยชน์ร่วมกันของจีน-สหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้คือ เสรีภาพความปลอดภัยในการเดินเรือ รวมทั้งการทำให้ประเทศในภูมิภาครอบชายฝั่งทะเลจีนใต้มีเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง โดยจีนและสหรัฐฯ ไม่มีข้อพิพาทใดต่อกันในทะเลจีนใต้ ดังนั้น ทั้งสองประเทศต้องพ้นจากภาวะยากลำบากและความเข้าใจผิดด้านความมั่นคงที่เกิดจากปัญหาทะเลจีนใต้ ด้วยการเจรจาและวางจุดมุ่งหมายของกันและกันให้กระจ่างแจ้ง โดยจีนและสหรัฐฯ จำเป็นต้องร่วมมือกัน ในขณะที่จีนมีเป้าหมายพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางทะเล

บทสรุป
จีนยังคงแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหากรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ว่า ควรดำเนินการโดยคู่กรณีพิพาท ดังนั้น ประเทศมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคจึงไม่ควรเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากจะทำให้ปัญหาทวีความซับซ้อนมากขึ้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/xwfw_665399/s2510_665401/t1692308.shtml

http://thai.cri.cn/20190828/6e166af9-226c-eb7b-4585-5586387d6365.html

http://www.dti.or.th/page_bx.php?cid=24&cno=4343

https://thaipublica.org/2016/07/pridi3/

http://thai.cri.cn/247/2016/09/28/121s246389.htm

http://thai.cri.cn/247/2016/10/28/121s247358.htm

http://thai.cri.cn/247/2017/01/10/233s249769.htm

http://thai.cri.cn/247/2017/01/10/233s249770.htm

http://www.baanjomyut.com/library_2/asean_community/49.html