ข้อคิดจากกระบวนการปฏิรูปและารเปิดประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ผู่ตงเมื่อ ๒๘ ปีก่อน จนทำให้กลายเป็นเฟืองจักรขับเคลื่อนความเจริญของมหานครเซี่ยงไฮ้ในปัจจุบัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. มหานครเซี่ยงไฮ้เมื่อ ๒๘ ปีก่อน มีสภาพเป็นเมืองที่แยกเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก ตามความคดเคี้ยวของสองฝั่งแม่น้ำหวงผู่ โดยเรียกฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหวงผู่ว่า ผู่ซี (ผู่ตะวันตก) และผู่ตง (ผู่ตะวันออก) ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในสภาพความเจริญ กล่าวคือ
๑.๑ ชาวเมืองผู่ตงที่อยู่บนฝั่งผู่ตงได้แต่มองเห็นความเจริญของฝั่งผู่ซี ที่มีประวัติการพัฒนายาวนาน ยามค่ำคืนแสงไฟสว่างไสว รถราบนถนนคึกคัก ตรงกันข้ามกับฝั่งผู่ตง ที่ยามค่ำมีเพียงความมืด เส้นทางถนนเต็มไปด้วยดินโคลน โดยในเวลานั้นหากมองจากเดอะบันด์ บนฝั่งผู่ซี จะเห็นผู่ตงเป็นทุ่งเวิ้งว้างและรกร้าง สลับกับมีกลุ่มบ้านเรือนเตี้ย ๆ อีกทั้งมีเพียงเรือข้ามฟากเชื่อมโยงไปมาสองฝั่งเท่านั้น
๑.๒ แต่ทุกสิ่งเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๘ เม.ย.๓๓ เมื่อผู่ตงได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปและการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสภาแห่งรัฐ ซึ่งตัดสินใจที่จะพัฒนาพื้นที่ผู่ตงเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" และตั้งชื่อว่า "เขตผู่ตงใหม่"
๒. ขั้นตอนในการพัฒนาพื้นที่ผู่ตง เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓ พ.ค.๓๓
๒.๑ การผลิกฟื้นพื้นที่การพัฒนา ด้วยการตั้งสำนักงานพัฒนา โดยได้ใช้โกดังสินค้าร้าง นำมาปรับปรุงเป็นสำนักงานพัฒนาเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ และสถาบันวิจัยและการออกแบบการวางแผนพัฒนาผู่ตง เซี่ยงไฮ้ ได้ออกแบบอาคารสำนักงาน เป็นอาคารแบบสองชั้น ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๔๑ บนถนนผู่ตง สำหรับอาคารชั้นแรกซึ่งเคยเป็นคลังสินค้าได้ปรับปรุงกลายเป็นล็อบบี้และห้องประชุม ในขณะที่สำนักงานจะอยู่บนชั้นสอง ซึ่งมีโต๊ะทำงานเพียง ๔ โต๊ะ และเก้าอี้ ๔ ตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีโต๊ะทำงานส่วนตัว ต้องแบ่งกันใช้ร่วมกัน และแต่ละคนก็มีลิ้นชักเพียงหนึ่งช่องเท่านั้น
๒.๒ การปรับปรุงถนนดินโคลน กระท่อมและโครงสร้างที่ผิดกฎหมาย โดยการรื้อสร้างใหม่ เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าเสรี (Lujiazui Financial and Trade Zone) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน โดยมีตึกระฟ้ามากมายผุดขึ้น เส้นทางดินโคลนถูกเปลี่ยนไปเป็นถนนแห่งความรุ่งเรือง (Silver City Middle Road)
๒.๓ เหวิง จูเหลียง เลขานุการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตผู่ตงใหม่ กล่าวถึงการพัฒนาผู่ตง โดยแบ่งออกเป็น ๓ ช่วงเวลา ซึ่งแต่ช่วงละมีระยะเวลา ๑๐ ปี
๒.๓.๑ ช่วงแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๔๔ เป็นช่วงการพัฒนาที่รวดเร็ว โดยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก และมีนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลาง
๒.๓.๒ ช่วงที่สองระหว่างปีพ.ศ.๒๕๔๔ ถึง พ.ศ.๒๕๕๕ คือขั้นตอนการปฏิรูปที่ครอบคลุม นำร่องในการสร้างและปรับปรุงระบบเศรษฐกิจการตลาดเชิงสังคมนิยมให้สอดคล้องกับแนวทางสากล
๒.๓.๓ ช่วงที่สามซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๕ และยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน คือขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีชั้นนำของประเทศจีน (FTZ) ซึ่งจะช่วยยกระดับนวัตกรรมขั้นสูงและการพัฒนาในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
๓. ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา
๓.๑ ช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๔๔ ผู่ตงกลายเป็นพื้นที่ที่มีแต่การก่อสร้างขนาดใหญ่ หอกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์โอเรียนเต็ลเพิร์ล ซึ่งเป็นอาคารที่โดดเด่นในเซี่ยงไฮ้ ก็เริ่มเกิดขึ้นในเดือนก.ค.๓๔ และสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นอาคารสูง ๔๖๘ เมตร และสูงที่สุดในประเทศจีนในเวลานั้น โดยเป็นตึกระฟ้าสูงเป็นอันดับแรกในเซี่ยงไฮ้ด้วย จนกระทั่งต่อมาสถิตินี้ถูกลบทิ้งโดยศูนย์การเงิน Shanghai World Financial Center เป็นอาคารสูง ๔๙๒ เมตร และหอคอยเซี่ยงไฮ้สูง ๖๓๒ เมตร มีการเปิดตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๙ ธ.ค.๓๓ โดยการนำสถาบันการเงินจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ไปอยู่ที่เมืองผู่ตง ซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาและการพัฒนาของผู่ตง โดยเริ่มจากการพัฒนาเขตพัฒนาการส่งออก Jinqiao Export Processing Zone Development และ เขตการเงินและการค้าเสรี
๓.๒ ช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๔ พัฒนาการของผู่ตงได้เข้าสู่ยุคใหม่เต็มรูปแบบ หลังจากที่จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ในปีนั้น และได้เป็นสถานที่จัดงาน World Expo 2010 รวมทั้งมีการสร้างทางรถไฟใต้ดิน อุโมงค์ลอดและสะพานตลอดแนวแม่น้ำทั้งสองแห่ง และเมื่อวันที่ ๒๙ ก.ย.๕๖ โครงการนำร่องเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pilot FTZ) ได้ถูกกำหนดขึ้นจากพื้นที่ ๒๘.๗๘ ตารางกิโลเมตร และขยายไปอีก ๑๒๐.๗๒ ตารางกิโลเมตร
๓.๓ ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๕๗ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่าเขตการค้าเสรีนี้เป็นการทดลองขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลสำเร็จที่น่าพอใจ ซึ่งในปีต่อ ๆ ไปเขตผู่ตงนี้ จะได้รับการส่งเสริมในด้านอื่น ๆ เช่นเดียวกับเขตการค้าเสรีของจีนที่มีจำนวน ๑๓ เขต ในขณะที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ออกกฎหมายและข้อบังคับจำนวน ๒๐ ฉบับ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วง ๒๘ ปีที่ผ่านมา GDP ของผู่ตง ได้พุ่งขึ้นจาก ๖,๐๐๐ ล้านหยวน (๘๗๔ ล้านดอลลาร์) ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ เป็น ๙๖๕,๑๐๐ ล้านหยวน (๑๔๐.๘ พันล้านเหรียญ) ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ และคาดว่าจะเกินกว่า ๑ ล้านล้านหยวน (๑๔๖ พันล้านดอลลาร์) ในปี พ.ศ.๒๕๖๑
๔. ข้อสังเกต พบว่ารายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นของผู่ตง เพิ่มขึ้นจาก ๑,๑๐๐ ล้านหยวน (๑๖๐.๕ ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ เป็น ๓๙๓,๘๐๐ (๕๗.๔๗ พันล้านดอลลาร์) ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ รวมทั้งรายได้ต่อหัวของชาวเมืองและชนบทเพิ่มขึ้นเป็น ๖๐,๗๑๕ หยวน (๘,๘๖๐ เหรียญสหรัฐ) ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของชาวมหานครเซี่ยงไฮ้ ที่ ๕๘,๙๘๘ หยวน (๘,๖๐๙ ดอลลาร์)
บทสรุป
การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ผู่ตงนี้ เปรียบเหมือนกับความฝัน ในขณะที่คนรุ่นปู่มองเห็นเป็นพื้นที่สงคราม ส่วนคนรุ่นพ่อมองเห็นเป็นพื้นที่การบุกเบิก แต่สำหรับคนรุ่นนี้ได้มองเห็นเป็นพื้นที่ของความมั่งคั่ง สมดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่ออิ่มท้อง ย่อมได้เวลาสร้างความอุดมในทุกด้าน" โดยเฉพาะความสำเร็จในการพัฒนาบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://mgronline.com/china/detail/9610000097661
http://www.fsmitha.com/h2/ch32prc.html
https://ageconsearch.umn.edu/bitstream/90620/2/WP%2051.pdf