bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๔ มิ.ย.๖๓ ความเคลื่อนไหวระหว่างจีนกับอินเดียและแนวโน้มความสัมพันธ์ในอนาคต

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๔ มิ.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวระหว่างจีนกับอินเดียและแนวโน้มความสัมพันธ์ในอนาคต ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในการแถลงข่าวของนายจ้าว ลี่เจียน (赵立坚 Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ ๑ มิ.ย.๖๓ (2020年6月1日外交部发言人赵立坚主持例行记者会   Foreign Ministry Spokesperson Zhao Lijian's Regular Press Conference on June 1, 2020) ในประเด็นที่เกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย ว่า
     ๑.๑ สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ชายแดนจีน – อินเดียโดยทั่วไปมีเสถียรภาพ (目前中印边境地区的局势总体是稳定的。Currently the overall situation along the border is stable and controllable.)
     ๑.๒ สามารถควบคุมช่องทางการสื่อสารทางการทูตและการทหารระหว่างจีนกับอินเดียเกี่ยวกับปัญหาชายแดนได้ (可控的,中印关于边界问题的外交、军事沟通渠道是畅通的。Between China and India, there are unimpeded channels for border-related communication in diplomatic and military fields.)
     ๑.๓ เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาระหว่างสองประเทศได้อย่างเหมาะสมผ่านการปรึกษาหารือและการเจรจาต่อรอง (相信双方通过谈判协商,可以妥善解决两国间的问题。We believe the issues can be properly resolved after bilateral negotiations and consultations.)

๒. การพบปะหารือระหว่างผู้นำจีน-อินเดีย ครั้งล่าสุด จากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เดินทางไปเยือนอินเดียในระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๒ ต.ค.๖๒ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อินเดีย อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒ โดยได้พบปะเจรจาหารือกับนายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งมีนัยสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวคือ
     ๒.๑ ท่าทีของฝ่ายจีน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในการเดินทางไปเยือนอินเดียในครั้งดังกล่าวนั้นว่า จะสร้างพลังขับเคลื่อนและความสร้างสรรค์ใหม่ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะจากการเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีประชากรระดับ ๑ พันล้านคน เพียง ๒ ประเทศในโลก อันจะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ในการเพิ่มการเชื่อมต่อภายในภูมิภาค กับความร่วมมือที่มุ่งสู่ความเป็นรูปธรรม โดยการสร้างเวทีใหม่เพื่อกระชับความเชื่อถือต่อกัน และมิตรภาพของประชาชนภายในภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มคุณูปการใหม่ต่อการรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและทั่วโลก
     ๒.๒ ส่วนอินเดียได้แสดงท่าทีที่ยินดีต่อการเพิ่มการไปมาหาสู่ระหว่างกันระดับผู้นำ โดยใช้มาตรการประสานงานกันมากขึ้น เพื่อจัดการข้อขัดแย้งระหว่างสองประเทศอย่างเหมาะสม ด้วยการเพิ่มการแลกเปลี่ยนด้านบุคคลากรและวัฒนธรรมให้มากขึ้น โดยอินเดียให้ความสำคัญกับโครงการจัดตั้งอาณาจักรอุตสาหกรรมอินเดีย-จีน ณ เขตเมืองอัจฉริยะใหม่ Dholera ในรัฐคุชราตของอินเดีย ซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นจากการที่รัฐบาลรัฐคุชราตของอินเดียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือกับคณะตัวแทนสมาคมธุรกิจขนาดกลางและเล็กของจีน เมื่อวันที่ ๓๐ ก.ย.๖๒ โดยเน้นที่อุตสาหกรรมด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และยานพาหนะไฟฟ้า เป็นหลัก

๓. ข้อสังเกตต่อแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อินเดียในอนาคต ผ่านกลไกการขับเคลื่อนการเจรจาหารือระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งนอกจากการประชุมระดับผู้นำระหว่างจีน-อินเดียแล้ว ทั้งสองประเทศยังได้มีกลไกการเจรจาเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จีน-อินเดีย โดยเมื่อเดือน ก.ย.๖๒ ได้จัดการเจรจาครั้งที่ ๖ และได้หารือในประเด็นต่างๆ เช่น  สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เทคโนโลยีระดับสูง การประหยัดพลังงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนั้น ในการประชุมกลไกแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมระดับสูงระหว่างจีน-อินเดีย ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ได้จัดการประชุมครั้งที่ ๒ ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือน ส.ค.๖๒ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามใน “แผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศจีนและอินเดีย ปี ๒๐๒๐”(2020年中印外交部交流合作行动计划   2020 China-India Ministry of Foreign Affairs Exchange and Cooperation Action Plan) อันทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียในปัจจุบัน และจะส่งผลดีต่อความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต  

บทสรุป

ปีนี้ เป็นปีที่จีนและอินเดียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ ๗๐ ปี เมื่อวันที่ ๑ เม.ย.๖๓ ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวเน้นว่า หากย้อนรำลึกถึงช่วงเวลา ๗๐ ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างไม่ธรรมดา ภายใต้ความพยายามของทั้งสองฝ่าย โดยสองประเทศได้สร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ที่มุ่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และพยายามกระชับความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในขณะที่นายราม นาถ โกวินท์ ประธานาธิบดีอินเดีย ได้กล่าวว่า อินเดียกับจีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอารยธรรมเก่าแก่ ดังนั้น การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญยิ่งต่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและโลก

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

https://www.fmprc.gov.cn/web/fyrbt_673021/t1784776.shtml

https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/xwfw_665399/s2510_665401/t1784867.shtml

http://www.gov.cn/guowuyuan/2019-08/12/content_5420804.htm

http://www.xinhuanet.com/english/2020-06/01/c_139105919.htm

https://www.fmprc.gov.cn/web/wjbzhd/t1726784.shtml

http://thai.cri.cn/20200602/116ffa1d-5f85-45b7-b0cb-78137d13a230.html

http://thai.cri.cn/20200402/9a3d4a2c-b396-3adb-815e-af9946e81b17.html

https://mgronline.com/china/detail/9620000098631

http://www.vijaichina.com/articles/1551

https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_6769821