bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๕ ก.ค.๖๑ : ฮ่องกงได้จัดพิธีเชิญธงชาติจีนและธงประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (HKSAR)

เขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้จัดพิธีเชิญธงชาติจีนและธงประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (HKSAR) ขึ้นสู่ยอดเสาบริเวณจัตุรัสดอกชงโคทองคำ เขตวานจื่อ เนื่องในวันครบรอบ ๒๑ ปีแห่งการกลับคืนสู่จีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นางแคร์รี แลม (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกล่าวว่า หลังจากหนึ่งปีที่ได้ทำการบริหารฮ่องกงในรูปแบบใหม่ ด้วยบทบาทใหม่และปรัชญาแบบใหม่ ทำให้มีความเชื่อมั่นในฮ่องกงมากกว่าที่เคยมีมา โดยในปีที่ผ่านมา ฮ่องกงมีเศรษฐกิจที่สดใสด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ ๓.๘ และสำหรับช่วงต้นปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ ๔.๗ ในขณะที่อัตราการว่างงานลดต่ำลงเหลือร้อยละ ๒.๘ ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ ๒๐ ปี

๒. ฮ่องกง เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนานถึง ๑๕๖ ปี หลังจากที่อังกฤษคืนอธิปไตยเหนือดินแดนฮ่องกงให้แก่จีนในวันครบรอบก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) จีนก็ปกครองฮ่องกงด้วยระบอบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ตามที่ระบุในกฎหมายธรรมนูญของฮ่องกงหรือที่เรียกกันว่า กฎหมายเบื้องต้น (Basic Law) และรับประกันว่า ชาวฮ่องกงจะได้รับเสรีภาพและอิสระแห่งตุลาการแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมทั้งให้คำมั่นจะปฏิรูปการปกครองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

๓. ข้อสังเกต ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนไทย ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๔ พ.ค.๖๑ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีของการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) สมัยที่ ๗๔ โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายปีเตอร์ หว่อง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียของสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council : HKTDC) สำนักงานประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย เพื่อติดตามการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office : HKETO) ประจำประเทศไทย

บทสรุป

เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เป็นหัวใจสำคัญของพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของจีน ดังนั้น การที่ทางการฮ่องกงจะมีการจัดตั้งสำนักงาน HKETO ในประเทศไทย เพื่อความร่วมมือด้านการเข้าเมืองผ่านช่องทางอัตโนมัติ และความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง รวมทั้งกระชับความร่วมมือการค้า การลงทุน การเงิน SMEs อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การศึกษา โดยเฉพาะการให้สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของฮ่องกงมาตั้งอยู่ในประเทศไทย จะเป็นช่องทางของการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของไทย และแนวทางความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มต่าง ๆ ของจีน โดยเฉพาะภายใต้กรอบความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area : GBA) ความร่วมมือในพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan – Pearl River Delta : PPRD) และโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) โดยฝ่ายไทยย้ำความพร้อมที่จะเป็น “ประตู” ให้กับฮ่องกงในการเข้าสู่อาเซียน และฮ่องกงได้ย้ำความพร้อมที่จะเป็น “ประตู” ให้กับไทยในการเข้าสู่จีน อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.hong-kong-traveller.com/hong-kong-july-1-celebrations.html

https://mgronline.com/china/detail/9610000065285

https://www.matichon.co.th/publicize/news_1027174

https://www.thaiquote.org/content/30173

https://m.apdnews.com/e-china/859261.html