bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๕ เม.ย.๖๑ : ความสำคัญของทิเบตในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางธรรมชาติ

ความสำคัญของทิเบตในการเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางธรรมชาติ นอกเหนือจากการเป็นจุดยุทธศาสตร์ของความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และการเมืองการปกครอง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำจืดในทวีปและประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงทางทรัพยากรของจีน ยังผลให้รัฐบาลจีนเล็งเห็นความสำคัญของทิเบต ที่จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะโครงการเตาสร้างฝนเทียมทั่วที่ราบสูงทิเบต

๒. โครงการเตาสร้างฝนเทียมทั่วที่ราบสูงทิเบต ริเริ่มในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) โดยนักวิจัยจากชิงหวา มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของจีนได้เสนอโครงการชื่อว่า "เทียนเหอ" หรือ "แม่น้ำแห่งสวรรค์" (Sky River) เพื่อสร้างฝนชดเชยปริมาณน้ำในภูมิภาคภาคเหนือที่แห้งแล้งด้วยการจัดการกับสภาพอากาศ
            ๒.๑ โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดักไอละอองน้ำจากมรสุมอินเดีย ที่พัดมาปะทเแนวกำแพงธรรมชาติของที่ราบสูงทิเบตและกระจายไปในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ก่อตัวเป็นเมฆฝน เพิ่มปริมาณน้ำจืดประมาณ ๕,๐๐๐ ถึง ๑๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
            ๒.๒ ที่ราบสูงทิเบต อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อยู่ใต้ซินเจียง ข้างซ้ายเป็นมณฑลเสฉวน ด้านใต้คือยูนนาน และเชื่อมชายแดนสำคัญระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินเดีย, เนปาล, ภูฐาน, เมียนมา เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำกว่า ๒๐ สาย อาทิ แม่น้ำแยงซี, แม่น้ำเหลือง แม่น้ำขนาดใหญ่ที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของจีน, แม่น้ำพรหมบุตร, แม่น้ำโขง, แม่น้ำอิรวดี และ แม่น้ำสาละวิน ฯลฯ แม่น้ำเหล่านี้ ไหลผ่านประเทศจีน, อินเดีย, เนปาล, ลาว, เมียนมาและประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย เป็นอู่น้ำอารยธรรมของเอเชีย ซึ่งมีประชากรรวมเกือบครึ่งหนึ่งของโลก
            ๒.๓ ด้วยภูมิประเทศระดับความสูง ๔,๕๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ ๒ ๕ ล้านตารางกิโลเมตร หรือราว ๑ ใน ๔ ของประเทศจีน แนวเทือกเขาทิเบตนอกจากเป็นกำแพงธรรมชาติ ที่ป้องกันมรสุมต่างๆ ให้จีน ทิเบตยังเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ได้ชื่อว่าเป็นทั้งหลังคาโลก และ หอเก็บน้ำแห่งเอเชีย มีธารน้ำแข็งและทะเลสาบที่มีปริมาณน้ำจืดราว ๔ แสนล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณนี้ คิดเป็นสัดส่วนถึง ๓๐ เปอร์เซนต์ของน้ำจืดในประเทศจีน การครอบครองและควบคุมจัดการทรัพยากรน้ำจืดเหล่านี้ นับวันจึงทวีความสำคัญ เป็นความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของจีน ทั้งการใช้น้ำจืดและการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนฯ
            ๒.๔ ระบบเทคโนโลยีสร้างฝนเทียม ด้วยเตาเผาเชื้อเพลิงนี้ คือการนำสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ ลอยไปบนฟ้าเหนือหลังคาโลก เตาเผาเหล่านี้ติดตั้งอยู่บนยอดเขาทั่วเทือกเขาทิเบต กระจายพื้นที่รวมประมาณ ๑ ๖ ล้านตารางกิโลเมตร (๖๒๐,๐๐๐ ตารางไมล์) หรือสามเท่าของประเทศสเปน โดยจะเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะเพิ่มปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคนี้ได้ถึง ๑ หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณร้อยละ ๗ ของการใช้น้ำทั้งหมดของประเทศจีน

๓. ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นั้น ฝนจะเกิดขึ้นไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วย "สูตรร้อน" ใช้เพื่อกระตุ้นเร่งเร้ากลไกการของบรรยากาศ และการทำฝนเทียมจากซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่ผลิตโดยเตาเผาไหม้จะส่งอนุภาคขึ้นไปทำให้เกิดการก่อตัวของเมฆฝน โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) ได้ลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยชิงหวา และมณฑลชิงไห่ เพื่อจัดสร้างระบบปรับสภาพอากาศขนาดใหญ่บนที่ราบสูงทิเบตแล้ว

๔. ข้อสังเกต
            ๔.๑ รัฐบาลจีนมีความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีการทหาร มาป้องกันภัยพิบัติพลเรือน เมื่อ ๑๐ ปีก่อน และโครงการฯ นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขสภาพอากาศของกองทัพจีน โดย China State Science and Technology Corporation ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ด้านการป้องกันภัยสภาพอากาศ และเป็นผู้นำในด้านโครงการสำรวจบุกเบิกต่างๆ ระดับชาติ รวมถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ และการสร้างสถานีอวกาศของจีน
            ๔.๒ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลางจีน ได้ดำเนินนโยบายระดับยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุผลในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยมีการพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจีนอย่างต่อเนื่องจริงจัง เช่น โครงการ South-to-North Water Transfer Project ที่ผันน้ำปริมาณ ๔.๔ หมื่นล้านจากใต้ขึ้นเหนือ ยังมีโครงการ “river chief” ซึ่งเป็นโครงการป้องกันมลพิษ และภัยพิบัติในแม่น้ำลำน้ำ ทางตะวันออกของจีน เป็นต้น

บทสรุป

ความคิดและเทคโนโลยีการสร้างฝนเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่จีนเป็นประเทศแรกที่ใช้เทคโนโลยีเตาสร้างฝนเทียมกับพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยใช้ข้อมูลรวบรวมแบบเรียลไทม์จากเครือข่ายดาวเทียม ๓๐ แห่ง ซึ่งโคจรติดตามมรสุมเหนือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งข้อมูลจากเรดาร์ ทำให้นักวิจัยพบว่า สายลมอ่อน ๆ สามารถนำอนุภาคซิลเวอร์ไอโอไดด์ ที่ผลิตโดยเตาเผา ลอยขึ้นไปสูงกว่า ๑,๐๐๐ เมตร เหนือจากยอดเขา และเตาเผาซิลเวอร์ไอโอไดด์ หนึ่งเตา สามารถสร้างเมฆหนา แผ่ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๕ กิโลเมตร ข้อได้เปรียบของระบบเตาสร้างฝนเทียมนี้ มีมากกว่าวิธีสร้างฝนแบบอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องบิน, การยิงปืนใหญ่ พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ หรือ น้ำแข็งแห้ง เพื่อช่วยการเกิดฝนไปที่เมฆ และการเป่าไอโอไดด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ที่มีข้อจำกัดต้องทำในเขตปลอดบิน โดยใช้เวลานานและยุ่งยาก ในขณะที่เตาสร้างฝนเทียม มีราคาที่ประหยัด กล่าวคือ หน่วยการเผาไหม้แต่ละเครื่อง มีต้นทุนประมาณ ๕๐,๐๐๐ หยวน (๘,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ) สำหรับสร้างและติดตั้ง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังมีแนวโน้มลดลงตามสัดส่วนการผลิตเป็นจำนวนมาก แต่ข้อเสียของเตาเผาไหม้ ก็คือประสิทธิผลขึ้นอยู่กับลมธรรมชาติ ที่พัดพาสารก่อตัวเมฆฝน ที่อาจไม่เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://m.scmp.com/news/china/society/article/2138866/china-needs-more-water-so-its-building-rain-making-network-three#&gid=1&pid=5

https://mgronline.com/china/detail/9610000031295 

http://en.people.cn/n3/2016/0912/c90000-9114001.html