bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๘ ส.ค.๖๒ การวางแผนโครงการนำร่องปฏิรูปการเงินระดับภูมิภาคกับการขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียวของจีน

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๕ ส.ค.๖๒ นายเฉิน อี่ว์ลู่ (Chen Yulu) รองผู้ว่าการธนาคารประชาชนแห่งชาติของจีน (People's Bank of China: PBOC) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของจีน ได้กล่าวย้ำที่กรุงปักกิ่งว่า โครงการนำร่องปฏิรูปการเงินระดับภูมิภาค ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งปฏิบัติตามนโยบายมหภาคในภาพรวม และกดดันทางการระดับท้องถิ่นของจีนให้แบกรับความรับผิดชอบ ด้วยการนำประสบการณ์ที่ได้ผลจริงและเลียนแบบได้ไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ยังต้องมุ่งป้องกันและลดความเสี่ยงทางการเงินระดับภูมิภาคให้มากขึ้น

๒. โครงการนำร่องปฏิรูปการเงินระดับภูมิภาคดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ให้พิจารณาความคิดสร้างสรรค์ด้านการปฏิรูปทางการเงินระดับภูมิภาค โดยมุ่งปฏิบัติตามนโยบายมหภาคในภาพรวม และใช้เครื่องมือที่หลากหลาย อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงอย่างจริงจัง การส่งเสริมธนาคารขนาดกลางและขนาดย่อม การปรับลดต้นทุนการระดมทุนให้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจเอกชน เป็นต้น

๓. จีนได้เริ่มทำการปฏิรูปการเงิน เพื่อเสริมบทบาทของการเงินในการรองรับต่อการปฏิรูปและการเปิดกว้างระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการปฏิรูปนำร่องใน ๑๘ พื้นที่ระดับมณฑล ที่ประกอบด้วยโครงการภายใต้การดูแล ๒๖ โครงการ ซึ่งมุ่งเน้นภาคการเงินที่ครอบคลุมการเงินสีเขียว โดยธนาคารกลางของจีนได้ประกาศแผนการจัดตั้งเขตนำร่องการเงินสีเขียวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ในมณฑลกวางตุ้ง กุ้ยโจว เจียงซี เจ้อเจียง และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยสถาบันการเงินท้องถิ่นจะได้รับแรงจูงใจจากการเข้าถึงตลาดที่ง่ายขึ้น การสนับสนุนทางการเงิน และนโยบายที่ดินอันอำนวยประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรม

บทสรุป
แผนปฏิรูปภาคการเงินดังกล่าว จะช่วยให้มีการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมโครงการพัฒนาสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย.๖๒ ในพิธีเปิดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก ๒๐๑๙” ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ กรุงปักกิ่ง เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ๕ ประการ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียวให้เกิดขึ้นจริงในประเทศจีน ได้แก่
        (๑) สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อดำรงรักษาสมดุลของระบบนิเวศบนโลก เพื่อปกป้องท้องฟ้าแจ่มจรัส หุบเขาเขียวชอุ่ม และดอกไม้กลิ่นหอมหวน ไว้ให้คนรุ่นใหม่
        (๒) ผืนน้ำใสบริสุทธิ์และเทือกเขาเขียวขจีเป็นสมบัติที่ประเมินค่ามิได้ จึงควรสร้างความเจริญมั่งคั่งจากสองสิ่งนี้ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาและปกป้อง
        (๓) ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นวัฒนธรรมหลักของสังคม ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ ปฏิเสธความฟุ่มเฟือย
        (๔) สร้างระบบนิเวศ สร้างจิตวิญญาณธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม บริหารปกครองตามกฎธรรมชาติ เพื่อการอยู่ร่วมกัน
        (๕) จับมือกัน ร่วมกันจัดการกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางทะเล เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ของสหประชาชาติ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://en.imsilkroad.com/policy/p/307502.html

http://thai.cri.cn/20190806/5c5ca079-b339-e609-7d25-43ce7b315778.html

http://thai.cri.cn/20190503/5a52342b-ed5c-ec38-b1b8-2b58bb6cb9fc.html

https://money2know.com/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99-5/

https://www.ryt9.com/s/iq29/3024025

 


https://www.salika.co/2019/05/01/sijinping-speech-green_china_policy/


https://www.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/posts/1937297263152953/


https://www.chinadailyhk.com/articles/187/44/169/1565162551870.html