bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๙ ส.ค.๖๑ : โครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๗ (The Seventh Thai - Chinese Strategic Research Seminar)

โครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ ๗ (The Seventh Thai - Chinese Strategic Research Seminar) ภายใต้หัวข้อ “ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมยุคใหม่ : สู่การพัฒนาร่วมกัน” “The Belt and Road Initiative (BRI) and Thailand 4.0 : Towards Common Development” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University, HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies (CSSAS) และ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ระหว่างวันที่ ๙-๑๓ ส.ค.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. หลักการและเหตุผล
        ๑.๑ ประเทศไทยและจีนได้พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ระดับของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยมีความร่วมมือกันในมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ ก้าวไปสู่การเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และที่สำคัญความร่วมมือระหว่างไทยและจีนยังได้นำไปสู่การทำคุณประโยชน์ต่อภูมิภาคร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (The Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการเชื่อมโยงกันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมทั้งกำหนดให้มีหลักการของการดำเนินงานโดยร่วมกันปรึกษาหารือ ร่วมกันสร้างสรรค์ และร่วมกันแบ่งปัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ของจีนในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของยุทธศาสตร์ไทยภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยเฉพาะนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และการเชื่อมโยงภูมิภาค (Connectivity)
        ๑.๒ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๕ ได้มีการจัดงาน “สัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน” ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีให้กับนักวิชาการไทยและจีน ได้มีโอกาสมาพบปะและแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการระหว่างกัน เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยและบทความเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ไทย-จีน มาประมวลเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ในแต่ละปี โดย วช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานหลักของจีน คือ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐ
ประชาชนจีน (Huaqiao University, HQU) สลับกันเป็นเจ้าภาพการจัดงาน โดยมีสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ให้การสนับสนุนบางกิจกรรมการจัดงาน “สัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน” ซึ่งแต่ละปีจะมีการกำหนดหัวข้อหลัก และรูปแบบการจัดสัมมนา เน้นการนำเสนอบทความทางวิชาการจากนักวิจัยทั้งฝ่ายไทยและจีน มุ่งเน้นพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยในประเด็นสำคัญหรือประเด็นที่คาดการณ์ในอนาคตและ เพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านที่เกี่ยวข้องกับไทย-จีน

๒. วัตถุประสงค์ของโครงการ
        ๒.๑ เพื่อให้นักวิชาการไทยและนักวิชาการจีน ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ การวิจัย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นไทย-จีน
        ๒.๒ เพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิชาการไทย-จีน หรือการศึกษาวิจัยในประเด็นคล้ายคลึงกันหรือเชื่อมโยงกันต่อไป
        ๒.๓ เพื่อประสานงานส่งเสริมให้มีการนำความรู้/องค์ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาวิจัย
มาเป็นข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ/หรือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลต่อไป
        ๒.๔ เพื่อประสานงานส่งเสริมการผลักดันให้มีการนำนโยบาย และ/หรือยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไปใช้ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

๓. รูปแบบการจัดสัมมนา ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และการนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายภาษาไทย หรือภาษาจีน การบรรยายและนำเสนอผลงานวิจัยจะอยู่ภายใต้ขอบข่าย ๓ หัวข้อย่อย ได้แก่
        ๓.๑ ยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาสังคม(Social Development Policy and Strategy
        ๓.๒ ยุทธศาสตร์และนโยบายด้านอุตสาหกรรมและการค้า (Industrial and Trade Policy and Strategy)
        ๓.๓ การเชื่อมโยงแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมยุคใหม่กับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Connectivity of BRI and EEC)

บทสรุป

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และหน่วยงานวิจัยสถาบันวิชาการในประเทศไทยและประเทศจีนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังจะได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลและขยายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน โดยการเสนอแนะประเด็นที่สำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาสังคม ยุทธศาสตร์และนโยบายด้านอุตสาหกรรมและการค้า และการเชื่อมโยง BRI กับ EEC เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการเสนอแนะข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อให้ วช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยสามารถใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการกำหนดโจทย์วิจัยและการศึกษาวิจัยต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นไทย-จีนต่อไป

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน วช. ใน http://www.vijaichina.com/events/1014