จีนศึกษา (วันพุธที่ ๑ ก.ค. ๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ ๔๕ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทย-จีน กับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคต ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นับตั้งแต่ที่ไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้มีความใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ และมีการขยายความร่วมมือเชิงลึกในทุกมิติ อันมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หยั่งลึกมาเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ ตลอดจนการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้ชิดกัน
๒. การที่ไทยและจีนเห็นความสำคัญของการดำเนินความสัมพันธ์บนพื้นฐานของหลักการ การเคารพซึ่งกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้นำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (全面战略伙伴关系 Comprehensive Strategic Partnership) เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งไทยจะยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวและสนับสนุนแนวทางการรวมประเทศอย่างสันติวิธีของจีน โดยจีนจะเคารพและสนับสนุนต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย เพื่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันต่อเสถียรภาพทางการเมือง รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ
๓. ทั้งไทยและจีนต่างแสดงความพึงพอใจต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีผ่านกลไกและเวทีความร่วมมือ เช่น คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน การประชุมคณะกรรมการนโยบายดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง กระทรวงกลาโหม-กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-จีน คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน และการประชุมระดับรัฐมนตรีไทย-จีนด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในเชิงลึกและเชิงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) ให้มีผลที่จับต้องได้
๔. สำหรับทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคต
๔.๑ ทั้งไทยและจีนต่างตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของสองประเทศ อนุภูมิภาคและภูมิภาคในภาพรวม ท่ามกลางความผันแปรของเศรษฐกิจโลก
๔.๒ ทั้งไทยและจีนจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ให้เป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ ความรุ่งเรือง และความยั่งยืนในภูมิภาค ผ่านกลไกที่นำโดยอาเซียน เช่น การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three: APT) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers' Meeting Plus: ADMM Plus) เป็นต้น
๔.๓ ทั้งไทยและจีน ยินดีต่อความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างการบูรณาการระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025: MPAC 2025) กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (一带一路 Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความเชื่อมโยงต่างๆ และจะส่งเสริมการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินระหว่างอาเซียนกับจีน
บทสรุป
รากฐานความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีนที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำพาความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านมีความก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง จากการขยายความร่วมมือเชิงลึกในทุกมิติ โดยเฉพาะการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลในระดับมณฑลของจีนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับไทย ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานในระดับส่วนกลางของไทยกับมณฑลของจีน ๓ คณะ ได้แก่ คณะทำงานไทย-ยูนนาน คณะทำงานไทย–กวางตุ้ง และคณะทำงานไทย–กว่างซี เพื่อส่งเสริมกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจให้มุ่งสู่ความเปิดกว้าง มีความครอบคลุม มีความสมดุล และมีประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งสามารถรับมือกับความท้าทายที่น่าวิตกกังวลของโลกจากลัทธิปกป้องทางการค้าและการดำเนินการฝ่ายเดียว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกอันเกิดจากโรคอุบัติใหม่ ดังกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เป็นต้น
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.vijaichina.com/articles/1504
https://thaiembbeij.org/th/republic-of-china/thai-relations-china/
http://www.vijaichina.com/articles/1608
http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6886/111092
http://www.vijaichina.com/articles/1577
https://www.kwm.com/zh/knowledge/downloads/think-tank-report-focusing-on-law-and-practice-in-the-belt-and-road-initiative-iii-20200330
https://asean.org/storage/2016/09/Master-Plan-on-ASEAN-Connectivity-20251.pdf
และหนังสือของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, พ.ศ.๒๕๕๗. สายสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างไทยกับจีน. กรุงเทพฯ : หจก. อรุณการพิมพ์.